E-Magazine facebook
ประวัติสมาคม TRA History
 
  history  
     
  history  การก่อตั้ง  
 

สมาคมยางพาราไทยเริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2494 ด้วยความร่วมมือของบริษัทผู้ผลิตและผู้ค้ายางพารา โดยใช้ชื่อว่า "สมาคมพ่อค้ายางพาราแห่งประเทศไทย" เพื่อเป็นองค์กรกลางของผู้ประกอบธุรกิจการผลิตและการค้ายางพารา เป็นศูนย์กลางที่ทางราชการสามารถติดต่อและประสานความร่วมมือ รวมทั้งเป็นกลไกที่จะช่วยผลักดันให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ ทั้งในด้านการพัฒนาวิชาชีพและยกระดับมาตรฐานการดำเนินการของบริษัทสมาชิกให้อยู่ในระดับที่มีคุณภาพโดยทัดเทียมกัน

วัตถุประสงค์หลักในการริเริ่มก่อตั้งสมาคมยางพาราไทยก็เพื่อแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจที่ยังขาดกฎและข้อบังคับ ผู้ซื้อและผู้ขายมีอิสระในการประกอบธุรกิจที่สร้างความพึงพอใจแก่ตน โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อการค้าโดยรวม ปัญหาที่ปรากฏมักเป็นปัญหาเรื่องสินค้าด้อยคุณภาพและการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งก่อให้เกิดการพิพาทที่ยืดเยื้อและเป็นผลเสียต่อผู้ประกอบธุรกิจ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการรวมตัวกันของผู้ประกอบธุรกิจยาง เรียกตัวเองว่า "สมาคมพ่อค้ายางพาราแห่งประเทศไทย" ก่อตั้งขึ้นเพื่อขจัดการค้าที่ไม่เป็นธรรม และเพื่อส่งเสริมสมาชิกที่ค้าขายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ควบคู่ไปกับการร่างกฎและข้อบังคับขึ้นมาใช้

ที่ทำการของสมาคมยางพาราไทยใช้ที่ทำการหอการค้ากรุงเทพฯ มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2494 และสมาชิกเริ่มแรกมีเพียง 15 ราย เป็นสมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ

สมาคมยางพาราไทยได้เป็นสมาชิกสามัญของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาเกือบ 2 ทศวรรษ และเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2511 นายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร ได้ออกหนังสือรับรองให้สมาคมยางพาราไทยเป็นผู้ได้รับอนุญาตเป็นสมาคมการค้า ที่ทำการสมาคมยางพาราไทยตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 57 ซอยรองเมือง 5 ถนนรองเมือง ตำบลรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ใช้ชื่อว่า "สมาคมพ่อค้ายางไทย" เป็นต้นมา

 
     
  history  การพัฒนา  
 

ผลผลิตยางของไทยได้เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากความต้องการของตลาดโลก และจากแรงกระตุ้นผ่านโครงการปลูกแทนของรัฐบาลไทย ตั้งแต่ปี 2504 ผลทางอ้อมก่อให้เกิดการสร้างโรงงานผลิตยางและบริษัทค้ายางต่าง ๆ ขึ้น เนื่องจากกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ต้องการติดต่อกับชาวสวนและเจ้าของสวนยางอย่างใกล้ชิด การประกอบกิจการของพวกเขาจึงได้แผ่ขยายไปยังพื้นที่ปลูกยางในภาคใต้

ดังนั้นจำนวนสมาชิกของสมาคมยางพาราไทยจึงได้เพิ่มขึ้นและปัจจุบันสมาคมยางพาราไทยมีสมาชิกทั้งสิ้น 39 บริษัท มีทั้งผู้ผลิตและผู้ค้ายาง สมาคมยางพาราไทยได้รับการรับรองโดยรัฐบาลและได้รับการพิจารณาว่าเป็นองค์กรกลางในการประสานความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐและเอกชน

 
     
  history  ย้ายที่ทำการลงภาคใต้  
 

ด้วยหาดใหญ่ซึ่งเป็นเมืองหลักทางตอนใต้ของไทยกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่เฟื่องฟู ประกอบกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่สงขลา จึงเป็นเหตุผลอันดีที่สมาคมยางพาราไทยจะย้ายลงมาทางใต้ ที่ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางหลัก มีโรงงานยางจำนวนมาก เรือสินค้าคับคั่ง และมีการประกอบธุรกิจการค้ามากมาย นอกจากนี้ ยังอยู่ชิดติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย ผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับสามของโลก ในปี 2535 สมาคมยางพาราไทยได้ย้ายไปยังเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และตั้งสำนักงานอยู่บ้านเลขที่ 4/14 ถ.เทพสงเคราะห์

ในปี พ.ศ. 2536 สมาชิกสมาคมยางพาราไทยเห็นพ้องที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น "สมาคมยางพาราไทย" ในปีต่อมา ได้มีการย้ายสำนักงานไปยังสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกว่า โดยย้ายไปอยู่บ้านเลขที่ 45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จวบจนทุกวันนี้

 
     
  history  กิจกรรม  
 

      กิจกรรมสมาคมยางพาราไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

     1. การให้บริการแก่สมาชิก ได้แก่

  • การให้ข้อมูลข่าวสารด้านยางพาราแก่สมาชิก สมาคมยางพาราไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลธุรกิจยางสำหรับสมาชิก โดยสมาคมฯ ได้รับข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และส่งข้อมูลเหล่านี้ให้สมาชิกรับทราบในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจดหมายอิเลคทรอนิคส์ วารสารข่าวรายเดือนและเว็บไซต์สมาคมยางพาราไทย
  • การให้ความช่วยเหลือสมาชิกในการแสวงหาความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคนิคกระบวนการผลิตยาง และธุรกิจยาง โดยแลกเปลี่ยนความคิด การจัดหาข้อมูล จัดทัศนศึกษา เชิญสมาชิกเข้าร่วมประชุม จัดสัมมนา และจัดฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศในโอกาสที่เหมาะสม
  • การส่งเสริมด้านการตลาดยางแก่สมาชิก ได้แก่ การจัดงานเลี้ยงประจำปีสมาคมฯ การจัดคณะเดินทางไปยังประเทศผู้ใช้ยางต่างประเทศ และการจัดคณะสมาชิกเพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงประจำปีขององค์กรยางต่าง ๆ ในต่างประเทศเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ด้านธุรกิจยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศสมาชิกสภาธุรกิจยางอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา
  • การเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยระหว่างสมาชิกและเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างสมาชิกด้วยกันและผู้ที่มิได้เป็นสมาชิก เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ

         ในแต่ละปี สมาคมยางพาราไทยจะจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ให้กับองค์กรยางจากต่างประเทศที่เดินทางมาเยี่ยมเยียนดูงาน อุตสาหกรรมและธุรกิจยางในประเทศไทย สมาคมยางพาราไทยร่วมกับสมาคมการค้ายางญี่ปุ่นในการกำหนดข้อตกลงที่จะมี การดำเนินธุรกิจยางร่วมกันเฉพาะในกลุ่มที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ เพื่อประกันความมั่นใจในความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ราบรื่น

     2. การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา การวิจัยและพัฒนา
          การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนสมาคมฯได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ คณะกรรมการควบคุมยาง คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการยางพาราไทย คณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ คณะกรรมการวิชาการรายสาขาเรื่องยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานควบคุมค่าความเข้มกลิ่นจากโรงงานยางพารา เป็นต้น

         การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน ผู้แทนสมาคมฯ ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลักของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คณะกรรมการคลัสเตอร์ยางและไม้ยางพาราของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการ Trade Environment ของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

         การให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ผู้แทนสมาคมฯ ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเครือข่ายวิจัยภูมิภาคภาคใต้ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ

     3. การให้ความร่วมมือกับองค์การยางระหว่างประเทศ ได้แก่

  • การเป็นองค์กรยางระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งที่ให้การรับรอง "สมุดปกเขียว"(Green Book) ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งสมุดปกเขียว ได้มีการตีพิมพ์ขึ้นภายใต้มติที่ประชุม IRQPC ครั้งที่ 4 ณ ประเทศเบลเยี่ยม
  • การเป็นกรรมการและสมาชิกสมาคมยางระหว่างประเทศ (International Rubber Association)
  • การเป็นกรรมการและสมาชิกสภาธุรกิจยางอาเซียน(ASEAN Rubber Business Council)
  • การเป็นกรรมการสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ(International Tripartite Rubber Council)
  • การเป็นกรรมการบริหารบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (International Rubber Consortium Limited (IRCo)).
 
     
  history  สถานะปัจจุบันของสมาคมยางพาราไทย  
 
ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการย้ายที่ทำการมาที่หาดใหญ่ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยางไทย และการประกอบธุรกิจการค้า สมาคมยางพาราไทยจึงได้ขยายกิจกรรมออกไปเรื่อย ๆ แนวความคิดหลักยังยึดถือนโยบาย ในการส่งเสริมธุรกิจยางของสมาชิกและรักษาคุณภาพยางไทยให้อยู่ในระดับสากล
 
     
  history  นโยบายของสมาคมยางพาราไทย  
 

1. บริหารสมาคมด้วยความโปร่งใส โดยใช้หลักธรรมาภิบาล
2. ด้านสมาชิก ดำเนินงานโดยมีเป้าหมาย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สมาชิก รวมทั้งปกป้อง และรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก
3. สร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกและสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสมาชิก และสมาคมฯ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทยอย่างยั่งยืน
4. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ และเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
5. ด้านผู้ผลิตยาง สมาคมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับประเทศผู้ผลิตยางทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย
6. ด้านผู้ใช้ยาง สมาคมเป็นสื่อกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ยาง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในด้านธุรกิจยาง และเพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ยางได้รับประโยชน์ร่วมกัน
 
     
  history  รายนามนายกสมาคมยางพาราไทย นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  
     
 
  • พ.ศ. 2494 - 2497       นาย ตัน ใจ เส็ง
  • พ.ศ. 2497 - 2502       นาย เอช เอฟ ลัง เฟล
  • พ.ศ. 2502 - 2504       นาย เอส ลังกิล เย็นเซ็น
  • พ.ศ. 2504 - 2505       นาย ไว โอ จอง
  • พ.ศ. 2505 - 2506       นาย ตันไว คี
  • พ.ศ. 2506 - 2509       นาย ตัน ไว คี
  • พ.ศ. 2509 - 2513       นาย บุญทอง สันติกาญจน์
  • พ.ศ. 2513 - 2516       นาย อุ่นจอง แซ่เอียว
  • พ.ศ. 2516 - 2518       นาย วิจิตร อุปัติศฤงค์
  • พ.ศ. 2518 - 2520       นายสมาน โอภาสวงศ์
  • พ.ศ. 2520 - 2522       นายประทีป วิบูลย์
  • พ.ศ. 2522 - 2524       นายสมบูรณ์ โสพร
  • พ.ศ. 2524 - 2528       นาย วิจิตร  อุปัติศฤงต์
  • พ.ศ. 2528 - 2529       นายแสง  อุดมจารุมณี
  • พ.ศ. 2529 - 2533       นาย วิจิตร  อุปัติศฤงต์
  • พ.ศ. 2533 - 2536       นายแสง  อุดมจารุมณี
  • พ.ศ. 2536 - 2539       นาย อโนทัย งานทวี
  • พ.ศ. 2539 - 2541       ดร. ไวยวุฒิ  สินเจริญกุล
  • พ.ศ. 2541 - 2545       นาย ชูสิทธิ์ โอภาสวงศ์
  • พ.ศ. 2545 - 2547       ทพ. พงษ์ศักดิ์  เกิดวงศ์บัณฑิต
  • พ.ศ. 2547 - 2548       นายแสง  อุดมจารุมณี
  • พ.ศ. 2548 - 2550       นายหลักชัย  กิตติพล
  • พ.ศ. 2550 – 2554       ดร.หลักชัย  กิตติพล
  • พ.ศ. 2554 – 2555       ทพ.พงษ์ศักดิ์  เกิดวงศ์บัณฑิต
  • พ.ค. 2555 - ต.ค. 2555 นายประภาส เอื้อนนทัช
  • ต.ค. 2555 - ปัจจุบัน      นายไชยยศ สินเจริญกุล
 
     

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com