E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  มีนาคม 2566 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมีนาคม 2566

เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว จากวิกฤตความเชื่อมั่นของระบบสถาบันการเงินนั้น อาจนำไปสู่ภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการบริโภค การลงทุน การจ้างงาน รวมถึงเงินเฟ้อ ให้มีทิศทางชะลอตัวลงในอนาคต เมื่อวันที่ 20-22 มีนาคมประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เดินทางเยือนรัสเซียเพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และได้มีการลงนามข้อตกลงหลายฉบับเพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและรัสเซีย อาทิ การเพิ่มการใช้สกุลเงินหยวนและเงินรูเบิล การขยายการค้าทวิภาคี เป็นต้น ในขณะที่สหรัฐออกมาตรการใหม่สกัดจีนเติบโตด้านเทคโนโลยี ส่วนเศรษฐกิจประเทศไทยนั้น ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการการบริโภคในประเทศ และท่องเที่ยว มาตรการต่างๆ ที่กระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ล่าสุดทาง International Monetary Fund (IMF) ได้มองจีนเป็นความหวังเศรษฐกิจโลก จีนมีส่วนร่วมประมาณ 1 ใน 3 ของการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2566 หากมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะส่งผลดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.2 เป็น 97.8 เนื่องจากมีการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ภาคการก่อสร้างขยายตัว ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงาน (ค่าไฟ) อัตราดอกเบี้ยอยู่ในขาขึ้น และอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.5 จากระดับ 51.3 ในเดือนก่อนหน้า

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ส่งออกมูลค่า 730,123.48 ล้านบาท (22,376.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ร้อยละ 5.31 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาร้อยละ 4.28 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 776,424.88 ล้านบาท (23,489.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ร้อยละ 0.51 แต่ลดลงจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาร้อยละ 10.90 เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 46,301.40 ล้านบาท (ขาดดุล 1,113.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2566 เป็นข้อมูลเบื้องต้น) 

สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 49.2 จากระดับ 47.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ส่วนดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.8 ในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 53.1 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการปรับตัวและเติบโตช้าลงลง ด้วยสภาวะอุปสงค์ลดลง ภาวะเงินเฟ้อที่สูง ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2566 ปรับตัวลดลงกว่า 4.3 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับย่อลงและปรับตัวเพิ่มภายหลัง จากภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังการเจรจาในด้านการขนส่งน้ำมันของอิรักยังไม่สำเร็จ อีกทั้งราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลด้านเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 74.37 และ 79.27 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนมีนาคม 2566 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ราคายางภาพรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนที่ผ่านมา แม้อยู่ในช่วงปิดกรีดที่มีปริมาณยางเข้าสู่ตลาดน้อย และในขณะเดียวกันตลาดยังคงกังวลการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เดือนมีนาคม 2566 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ จำนวน 445,053 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.03 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 10.74 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.77 หมื่นล้านบาท

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 165,612 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ร้อยละ 6.39 เพิ่มขึ้นเพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 95,612 คัน (57.73% ของยอดผลิตทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 16.17% (YoY) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 70,000 คัน (42.27% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 71,551 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2566 ร้อยละ 9.11 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 3.94 เนื่องจากยังขาดแคลนชิปในบางรุ่น 


หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com