history history
 
   
iconการประชุมวิชาการยางพาราแห่งชาติครั้งที่ 4 [   มิถุนายน  2555 ]

 

       การวิจัยและการพัฒนามีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกันบูรณาการงานวิจัยและได้จัดประชุมวิชาการยางพาราแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา  โดยในปี 2555 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)  ได้กำหนดจัดงานประชุมวิชาการยางพาราแห่งชาติ ครั้งที่ 4  ในหัวข้อ “๙ บันดาลงานวิจัยยางพารา ” ในระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2555 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี แนวคิดหลักของงานคือ การนำเลข 9 ที่เป็นเลขมงคล มากำหนดหัวข้อหลักของโซนต่าง ๆ ที่จัดแสดงภายในงาน โดยมีโครงงานวิจัยมากกว่า 1 หมื่นโครงการที่ สกว.วิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหาให้แก่สังคม โดยดำเนินการสนับสนุนงานวิจัยตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นการสร้างความมีเหตุมีผล การใช้ความรอบรู้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ ตลอดจนได้สนองแนวทางพระราชดำริอันทรงคุณค่านานัปการ

 

       การจัดงานแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1. นิทรรศการ แบ่งเป็น 2 นิทรรศการคือ นิทรรศการกลาง สกว. และนิทรรศการงานวิจัยตามรอยพระยุคลบาท 2. การประชุมวิชาการ ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน เพื่อนำเสนอ วิเคราะห์ สังเคราะห์ประเด็นสำคัญโดยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิที่เพื่อนำไปสู่การผลักดันแก้ปัญหาทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ 3. โซนสินค้า ผลผลิตจากเครือข่ายวิจัย จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ และผลงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งนำไปสู่การพัฒนาโจทย์วิจัยต่อยอดเพื่อผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ในอนาคต และ 4. กิจกรรมเวทีกลาง นำเสนอผลงานวิจัยผ่านกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม การเสวนา และการสาธิตฝึกปฏิบัติ 

 

       การประชุมวิชาการครั้งนี้ได้รับเกียรติจากทพ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ การพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทย ” โดยท่านกล่าวว่าขณะนี้ราคายางมีความผันผวนอย่างมากจากปัจจัยเศรษฐกิจยุโรปและการแทรกแซงจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งงานวิจัยจากต่างประเทศและการแทรกแซงทางสื่อ ทำให้ราคายางไม่มีเสถียรภาพ ท่านเน้นถึงคุณสมบัติยางธรรมชาติที่ดีกว่ายางสังเคราะห์โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อได้เปรียบของยางธรรมชาติเรื่องสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรผลักดันการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาราคายางและพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทย นอกจากนี้ท่านเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้องานวิจัยดังนี้ 1) ราคายางที่เหมาะสมมิใช่ราคาแทรกแซง 2) งานวิจัยเกี่ยวกับวัสดุคู่แข่งยางธรรมชาติ 3) งานวิจัยที่สร้างความยั่งยืน และ 4) งานวิจัยผลิตภัณฑ์ยางรองรับแผ่นดินไหวในอาคาร เป็นต้น ส่วนการประชุมวิชาการได้มีการนำเสนอหัวข้อสำคัญได้แก่ มิติการวิจัยยางพาราแบบใหม่  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลวิจัยยางพาราเพื่อการพัฒนาต่อยอด ในกลุ่มยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยางและเทคโนโลยีชีวภาพ และการนำเสนอผลงานยุววิจัยดีเด่นประจำปี  โดยงานวิจัยที่น่าสนใจมีดังนี้ 1)  นวัตกรรมการนำกลับเนื้อยางและสารอนินทรีย์จากกากตะกอนของเสียในอุตสาหกรรมน้ำยางพารา 2) การศึกษาและพัฒนาสารฟอกสีชนิดใหม่ที่มีเมอร์แคปแทนเป็นองค์ประกอบเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตยางเครพขาว 3) การพัฒนาสารเก็บรวบรวมเนื้อยางจากน้ำยางสกิมประสิทธิภาพสูง 4) เครื่องมือวัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง 5) ผลของสภาวะการผสมในเครื่องผสมแบบปิดต่อประสิทธิภาพการผสมยางธรรมชาติและยางอีพีดีเอ็ม 6) เทคโนโลยีการผสมสารตัวเติมกับยางธรรมชาติในกระบวนการผลิตยางแห้งแบบต่อเนื่องด้วยเครื่องอัดรีดสกรูคู่ และ 7) การใช้เครื่องหมายโมเลกุลเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ยาง

 
Buy cheap uk replica watches online.

The discounted online store provides uk high quality cartier fake watches.

       การจัดงานครั้งนี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่สกว. สนับสนุนตามแนวพระราชดำรัส และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิจัย และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่ผลงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ สมาคมฯ คาดหวังว่าความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในการจัดประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จ   และสร้างศักยภาพอันยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมยางพาราไทยในภาพรวม

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด