history history
 
   
iconสถานการณ์ยางพาราปี 2565 [   ธันวาคม  2565 ]

 

ผลผลิตยางมีการปรับตัวลดลง เนื่องด้วยสภาพอากาศที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ แม้สถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มคลี่คลาย และค่าระวางเรือปรับลดลงมาเกือบเป็นปกติ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาทิเช่น การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงของยางพารา ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ ความผันผวนของตลาดการเงินโลก เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลง เงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียและไทยต้องรับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนค่าขนส่ง อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค และทำให้การนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มชะลอตัวลง อุปสงค์ในต่างประเทศที่ลดลง ผู้ซื้อยางล้อจากต่างประเทศชะลอหรือเลื่อนการรับมอบสินค้ายางพารา ปี 2565 คาดการณ์มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 5 %  ส่วนปริมาณคงตัว

นอกจากนี้มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ 1.การจัดทำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน(Carbon Border Adjustment Mechanism-CBAM) ของสหภาพยุโรป สมาคมฯ เห็นว่าการปลูกยางพาราเป็นหนึ่งทางออกที่สามารถช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ และที่สำคัญยางพารายังเป็นแหล่งดูดซับหรือเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แหล่งใหญ่ของโลกได้ใกล้เคียงกับป่าเขตร้อน โดยกยท. ให้ข้อมูลว่าต้นยางพาราสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 4.22 ตันต่อไร่ จึงช่วยลดคาร์บอนในอากาศ ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ จึงถือว่ายางธรรมชาติเป็น green product 2. ร่างกฎหมายเพื่อสนับสนุนการลดการทำลายป่าไม้และส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Products)  ของสหภาพยุโรป(EU)  สถานะล่าสุดของร่างกฎหมาย Deforestation free products ณ  เดือนกรกฎาคม 2565 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรปได้มีมติร่วมกันเสนอให้มีการพิจารณาขยายขอบเขตสินค้าให้ครอบคลุมหมู แกะ แพะ สัตว์ปีก ข้าวโพด ยาง ถ่าน และผลิตภัณฑ์กระดาษตีพิมพ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ในด้านค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และกระบวนการทำ due diligence กับเกษตรกรชาวสวนยาง 2 ล้านรายในประเทศไทยต้องใช้เวลานานและยากในการปฏิบัติ เพราะต้องมีกลไกและเครื่องมือ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและเงินทุนที่มากมายจากรัฐบาล และประเทศไทยตอนนี้ก็มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจากภาวะโควิดและ Geo politics หากรัฐสภายุโรปรวมเอาผลิตภัณฑ์จากยางพาราเข้าไปในกฎหมายดังกล่าว จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพี่น้องชาวสวนยางกลุ่มดังกล่าวที่ไม่สามารถขายยางได้ และอาจมีผลทำให้เกิดกรณีกีดกันทางการค้า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาราคายางตกต่ำในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม สมาคมยางพาราไทยมีความเห็นเชิงบวกว่ายางพารายังคงมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV Cars) นอกจากนี้มีความร่วมมืออันเข้มแข็งของกลุ่มประเทศสมาชิกสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ซึ่งประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการออกมาตรการสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แต่ละช่วงเวลา และภาครัฐไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบการยางในหลายมาตรการ

นายไชยยศ  สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

Signature
นายไชยยศ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย

 

 
 
สาส์นจากนายกทั้งหมด