เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก (Global Real GDP Growth Rate) ปี 2567 และ ปี 2568 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.2 อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง การแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tension) เช่น สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์อาจขยายวงกว้าง สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจรุนแรงขึ้นอีกครั้ง และการกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ยังคงนโยบาย "Make America Great Again" สานต่อ "American First" ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐ โดยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนสูงถึง 60% และจากประเทศอื่น ๆ 10-20% เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและลดการพึ่งพาการผลิตจากต่างประเทศนั้น อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีนเนื่องจากมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ กับจีน รวมทั้งภาวะโลกร้อน การแพร่ระบาดของโรคใบร่วงของยางพาราส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวรุนแรง
สถานการณ์ยางพาราปี 2568 คาดว่ามีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น โดยสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ(ANRPC) คาดการณ์ว่าปี 2567 ผลผลิตยางธรรมชาติโลกเป็น 14.53ล้านตัน(เพิ่มขึ้น 4.5 % จากปี 2566) โดยไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 รองลงมาคืออินโดนีเซีย ไอวารี่โคสต์ เวียดนามและอินเดีย ตามลำดับ ส่วนความต้องการใช้ยางธรรมชาติโลกเป็น 15.14 ล้านตัน (ลดลง 0.2 % จากปี 2566) โดยจีนเป็นผู้ใช้ยางอันดับ 1 รองลงมาคือ อินเดีย ไทย EU-27& UK และอินโดนีเซีย ตามลำดับ โดยไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจาก Climate change ที่ถี่และรุนแรงขึ้น และผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญความท้าทายในการปรับตัวกับกฎระเบียบ Climate change ที่เข้มขึ้นทั่วโลก ได้แก่ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน(Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) และกฎหมายเกี่ยวกับสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-Free Products) ของสหภาพยุโรปซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2569
โดยสรุป สมาคมฯ คาดหวังความร่วมมืออันเข้มแข็งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร โดยไทยต้องเร่งปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ เร่งหาตลาดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก รวมทั้งการเตรียมพร้อมรับมือกับกฎระเบียบต่างๆ ทางการค้า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของยางธรรมชาติตลอดไป
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล
นายกสมาคมยางพาราไทย