บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางธรรมชาติประจำเดือนพฤษภาคม 2557
ตลาดยาง
ศุกร์ที่ 9
พฤษภาคม 2557
ราคายางลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากอุปทานยางล้นตลาด มีรายงานว่า
รัฐบาลรักษาการของไทยจะขายสต็อกยาง 220,000 ตัน ทำให้ราคายางตกต่ำ
ถึงแม้จะมีกระแสต่อต้านจากชาวสวนยาง และนักการเมืองหลายท่าน
ผู้ค้ายางชะลอการขายที่ราคา ณ ขณะนี้
มีปัจจัยบวกจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ในช่วงครึ่งหลังของปี
ซึ่งช่วยพยุงราคายางให้ไม่ตกต่ำลงไปอีก อุปสงค์จากจีนอยู่ในระดับต่ำ
เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
ศุกร์ที่ 16
พฤษภาคม 2557
ตลาดยางในแถบเอเชียยังคงซบเซา
ถึงแม้สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีนจะรายงานว่า ยอดขายยานยนต์ในจีน เพิ่มขึ้น 8.81
เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน และอุปทานยางธรรมชาติในตลาดโลกจะคงที่ก็ตาม
คาดว่าความมั่นใจนักลงทุนจะกลับคืนสู่ปกติในไตรมาสที่กำลังจะมาถึง
หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศว่า จะขยายการลงทุนจากต่างประเทศในตลาดทุนของจีน
ศุกร์ที่ 23
พฤษภาคม 2557
ราคายางปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์
หลังจากการประกาศกฎอัยการศึกในประเทศไทย มีการซื้อยางเล็กน้อยหลังจากจีนประกาศตัวเลข
PMI ประจำเดือนพฤษภาคม ที่ 49.7 ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาดไว้ อุปทานยางจะออกมาเต็มอัตรา
หลังจากฤดูผลัดใบสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้ มีรายงานว่า
ผู้ผลิตได้ลดปริมาณการผลิตตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ในขณะที่ชาวสวนยางได้เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นกันบ้างแล้ว มีข่าวลือว่า
พ่อค้าชาวจีนกระทำการผิดสัญญาส่งมอบเดือนเมษายน และพฤษภาคม
ราคายางล่วงหน้าในตลาดโตเกียวยังคงอยู่ในแดนลบ ถึงแม้ดัชนี Nekkei
225 จะปรับตัวสูงขึ้นแล้ว
และเงินเยนต่อดอลลาร์แกว่งตัวในกรอบแคบๆ ก็ตาม
ในขณะที่ราคาล่วงหน้าน้ำมันดิบนิวยอร์กเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ ในทางกลับกัน
ราคายางล่วงหน้าตลาดเซี่ยงไฮ้ลดลงสู่ระดับต่ำสุด นับตั้งแต่เดือนธันวาคมที่
163,097 ตัน รัฐบาลจีนมีโครงการให้เงินช่วยเหลือผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศมูลค่า 700
ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ต่อปี
การผลิต
การใช้ การนำเข้า และการส่งออก
The Rubber Economist คาดการณ์ว่าอุปทานยางของโลกจะสูงกว่าความต้องการอยู่ที่
316,000 ตันในปี 2559 เทียบกับ 483,000 ตันในปี 2558
อุปทานส่วนเกินจะมีต่อเนื่องจนถึงปี 2559 ก่อนจะถึงเวลานั้น
ราคายางก็จะยังคงตกต่ำอยู่เช่นนี้ สต็อกยางชิงเต่าไต่ระดับสูงสุดที่ 270,000 ตัน ณ
วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 การนำเข้าของจีนในปีนี้จะขยายตัวเพียง 10.7 เปอร์เซ็นต์
เป็น 4.26 ล้านตัน ชะลอตัวจากการเติบโต 14.3 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน
Steven Evans เลขาธิการ IRSG กล่าวในงาน
IRSG World Rubber Summit ว่า สถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำเช่นนี้จะดำเนินต่อไปอีก 1-2 ปี
จนกว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น นั่นหมายความว่า ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ
และยุโรปจะฟื้นตัวก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวอยู่
ก็ถือว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น และปรากฏการณ์เอลนิโญ่
ไม่สามารถช่วยลดอุปทานส่วนเกินได้ ในขณะที่ ดร. ปรัชญา จัมปาสุต ผู้อำนวยการวารสาร
The Rubber Economist กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญ่อาจจะช่วยให้ราคายางไม่ตกต่ำลงไปอีกก็เท่านั้น
อินเดียมีแนวโน้มนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ yoy ในช่วงไตรมาสนี้
เนื่องจากเงินรูปีแข็งค่าขึ้น
และราคายางในประเทศผลักให้ผู้ผลิตยางล้อต้องนำเข้ายางจากต่างประเทศ
การที่อินเดียเพิ่มการนำเข้านั้น อาจจะช่วยให้ราคายางในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
เงินรูปีแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 11 เดือน
ผู้ผลิตยางล้อในอินเดียนำเข้ายางจากมาเลเซียที่กิโลกรัมละ 127 รูปี
เป็นราคาที่รวมภาษีนำเข้าและค่าขนส่งแล้ว ในขณะที่ราคายางภายในประเทศอยู่ที่กิโลกรัมละ
150 รูปี อีกทั้งจำนวนผลผลิตยางในอินเดีย ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
เนื่องจากชาวสวนยางหยุดกรีด เพราะราคายางไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต
อินเดียเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติอันดับที่ 5 ของโลก แต่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 2
เท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
สมาคมยางอินโดนีเซีย รายงานว่า
ปรากฏการณ์เอลนิโญ่จะทำให้ผลผลิตยางในอินโดนีเซียลดลง 3 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1
แสนตัน เป็น 3 ล้านตันในปีนี้ โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดฤดูแล้งอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากฤดูกาลผลัดใบที่เพิ่งผ่านไป
สำนักงานศุลกากรเซี่ยงไฮ้ รายงานว่า ในไตรมาส 1/2557
มณฑลเซี่ยงไฮ้นำเข้ายางธรรมชาติ 80,000 ตัน ลดลง 15.5 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการนำเข้าลดลง
34.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.07 พันล้านหยวน ราคานำเข้าเฉลี่ยต่อตันลดลง 22.1
เปอร์เซ็นต์ เป็น 13,000 หยวนต่อตัน โดยนำเข้าจากไทย 51,000 ตัน ลดลง 29.5
เปอร์เซ็นต์ ส่วนแบ่งการตลาดของไทยลดลงจาก 76.3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 63.7 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ยังนำเข้าจากอินโดนีเซีย 17,000 ตัน เพิ่มขึ้น 2.9 เปอร์เซ็นต์
และจากเวียดนาม 8,000 ตัน เพิ่มขึ้น 2.9 เท่า
ยางล้อ
ผลผลิตยางล้อในมาเลเซีย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ
เนื่องจากราคาวัตถุดิบไม่สามารถแข่งขันได้ จึงมีการทดแทนการใช้ยางธรรมชาติด้วย
การผลิตยางสังเคราะห์เพื่อใช้ในประเทศ ในปี 2556
มาเลเซียนำเข้ายางล้อด้วยมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านริงกิต
และคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นถึง 6 พันล้านริงกิตในปี 2563 ถ้าไม่มีโครงการนำร่องใดๆ
ที่จะมาช่วยลดการนำเข้า ทางการมาเลเซียต้องสร้างโรงงานยางล้อมากขึ้น
และต้องกำหนดมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อ ในปัจจุบัน
ภาคการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางของมาเลเซียอยู่ในรูปของน้ำยางข้นเป็นหลัก อันได้แก่
ถุงมือยาง
มิเชอลิน มีแผนปิดโรงงานผลิตยางล้อที่เมืองปูดาเปสท์ ประเทศฮังการี
เนื่องจากการแข่งขันสูงเกินไป กอปรกับอุปสงค์ยางล้อรถบรรทุกลดลง
อีกทั้งมิเชอลินไม่สามารถขยายโรงงานได้อีก เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ในเมือง
โดยจะมีผลกลางปี 2558 อุปสงค์ยางล้อรถบรรทุกในยุโรปลดลง 23 เปอร์เซ็นต์
นับตั้งแต่ที่เคยสูงสุดในปี 2550 มิเชอลินมีเป้าหมายลดต้นทุนการผลิต 1
พันล้านยูโรภายในปี 2559
ซูมิโตโม รับเบอร์ อินดัสทรีส์ รายงานว่า
ยอดขายและรายได้ในไตรมาส 1/2557 เพิ่มขึ้นด้วยเลข 2 หลัก
เนื่องจากราคายางธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบลดลง รายได้ดำเนินการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
23.5 เปอร์เซ็นต์เป็น 172.3 ล้านดอลลาร์ ยอดขายเพิ่มขึ้น 16.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น
1.76 พันล้านดอลลาร์ หากคิดจากภาคยางล้ออย่างเดียว รายได้ดำเนินการเพิ่มขึ้น 23.5
เปอร์เซ็นต์เป็น 154.7 ล้านดอลลาร์ ยอดขายเพิ่มขึ้น 16.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.54
พันล้านดอลลาร์
ยานยนต์
ยอดขายยานพาหนะขนาดเล็กในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนเมษายน
จากเดือนมีนาคม โดยยอดขายรายเดือนคิดเป็นปี (annualized rate) เพิ่มขึ้นเป็น
16.1 ล้านคันในเดือนเมษายน จากระดับ 15.2 ล้านคันในปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด คาดว่ายอดขายจะสูงขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้า
เนื่องจากมีอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์
กอปรกับการกู้สินเชื่อรถยนต์ทำได้ง่ายขึ้น และราคาพลังงานลดลง นอกจากนี้
ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ อัตราการว่างงานลดลง
ความมั่นใจผู้บริโภคสูงขึ้น และตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัว
AvtoVaz บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในรัสเซีย คาดการณ์ว่า
ตลาดรถยนต์ในรัสเซียจะหดตัวมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว
โดยในปีที่ผ่านมา ยอดขายในตลาดรถยนต์ลดลง 6 เปอร์เซ็นต์
และคาดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินต่อเนื่องจนถึง 2 ปีข้างหน้า
สมาคมผู้ผลิตยานยนต์อินเดีย
รายงานว่ายอดขายรถยนต์ในเดือนเมษายนลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ yoy เป็น 135,433
คัน โดยลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556
เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และราคาน้ำมันสูงขึ้น กอปรกับเศรษฐกิจซบเซา และผู้ซื้อรถกลัวการตกงาน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็น
ตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกใน 5 ปีข้างหน้า
สมาคมผู้ค้ายานยนต์ญี่ปุ่น รายงานว่า
ยอดขายยานยนต์ในญี่ปุ่นลดลง 5.5 เปอร์เซ็นต์ yoy ในเดือนเมษายน
หลังจากรัฐบาลจีนขึ้นภาษีรถยนต์เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ลดลง
เป็น 345,226 คัน โดยลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 ที่ 338,503 คัน
รัฐบาลญี่ปุ่นขึ้นภาษีรถยนต์ครั้งก่อนหน้านี้ในปี 2540 ปรากฏว่ายอดขายยานพาหนะลดลง
15 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายนปีนั้น บริษัทวิจัยรถยนต์ HIS Automotive คาดการณ์ว่า
ยอดขายรถยนต์ญี่ปุ่นในไตรมาส 2/2557 จะลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ yoy
สมาคมรถยนต์จีน รายงานว่า ยอดขายรถยนต์ทุกประเภทในจีนเพิ่มขึ้น
13 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน เป็น 1.5 ล้านคัน เนื่องจากผู้บริโภคแห่ซื้อรถยนต์
ก่อนที่รัฐบาลจีนจะใช้มาตรการจำกัดการครอบครองรถยนต์ เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศ
และความหนาแน่นของการจราจร สมาคมรถยนต์จีน คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในจีน จะเพิ่มขึ้น
10 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ลดลงจาก 14 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน
สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป รายงานว่า ในเดือนเมษายน
ยอดขายรถยนต์ในยุโรป เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
เนื่องจากผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวตามที่ข่าวต่างๆ รายงาน
การลงทะเบียนซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น 4.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.13 ล้านคัน จาก 1.08
ล้านคันในปีก่อน โดยรวมแล้ว ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายเพิ่มขึ้น 7.1
เปอร์เซ็นต์ เป็น 4.48 ล้านคัน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปยังไม่แน่นอนนัก
เห็นได้จาก GDP ของอิตาลีที่ยังหดตัวอยู่ ในไตรมาส 1/2557 ในขณะที่ GDP ฝรั่งเศสอยู่ในระดับคงที่ ยอดขายรถยนต์ในเยอรมนี
ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนยอดขายทั้งหมด ลดลง 3.6
เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้บริโภค และนักลงทุนกังวลว่า
เศรษฐกิจอิตาลีและฝรั่งเศสจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นด้วยเช่นกัน
ในเดือนเมษายน ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยลดลง 25.6 เปอร์เซ็นต์ yoy
เป็น
126,730 คัน ยอดขายลดลง 33 เปอร์เซ็นต์ เป็น 73,242 คัน
เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 7 เดือน โดยรวมแล้ว
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี ยอดผลิตและยอดขายรถยนต์ลดลง 43 เปอร์เซ็นต์ และ 27.8
เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
|