E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  กันยายน 2564 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกันยายน 2564

เศรษฐกิจโลก: เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีสามารถควบคุมการแพร่เชื้อของ COVID-19  ได้ดี แต่การแก้ปัญหา “ความตึงเครียด” ระหว่างอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และอัตราว่างงานที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ยังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จากผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ FEDได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2564-65 สู่ระดับ 4.2% และ 2.2% ตามลำดับ และปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานในปี 2564 ขึ้นสู่ระดับ 4.8% แม้ว่านาย Jerome Powell ประธาน FED จะยังไม่ระบุจุดเริ่มต้นการลดขนาด QE (QE Tapering) แต่ในทางกลับกันมีการส่งสัญญาณว่าการลดขนาด QE จะสิ้นสุดลงประมาณกลางปี 66 ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดจะชะลอตัวลงเองเมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกกลับสู่ภาวะปกติหลังจากมีการเปิดเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการพัฒนาการวัคซีนที่ดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการการระบาด ซึ่งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคเอกชน และในปี 65 เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวจากการอุปสงค์ในและต่างประเทศ เริ่มจากการส่งออกสินค้าที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว แม้ในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องติดตามในปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการควบคุมสถานการณ์และการแพร่ระบาด นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความต่อเนื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ ปัญหา Supply disruption เป็นต้น โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 64 และปี 65 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ และทางคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้น้ำหนักกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านมาตรการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ให้มากขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนสิงหาคม 2564 ปรับตัวลดลงจาก 78.9 เป็น 76.8 เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นภาครัฐยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และประชาชนมีรายได้ลดลง ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ปัญหาอัตราค่าระวางเรือที่สูง รวมถึงราคาน้ำมันและการเมืองในประเทศก็ยังคงเป็นปัจจัยของผู้ประกอบการ สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนสิงหาคม 2564 ส่งออกมูลค่า 715,416.40 ล้านบาท (21,976.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ร้อยละ 12.83 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาร้อยละ 0.95 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 765,248.80 ล้านบาท (23,191.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2563 ร้อยละ 53.20 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาร้อยละ 7.39 ดุลการค้าเดือนสิงหาคม 2564 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 49,832.40 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 1,215.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนกันยายน 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 60.7 จากระดับ 61.1 ในเดือนสิงหาคม 2564 การปรับตัวของดัชนีลง เนื่องด้วยจากการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในการผลิต ส่วนดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนกันยายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 48.9 (+1.24%) จากระดับ 48.3 ในเดือนสิงหาคม 2564 อุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยปรับตัวลดลง เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และยังมีประเด็นที่น่ากังวลคือข้อจำกัดของอุปทานและความกดดันด้านราคา ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศมีความกังวลและระมัดระวังมากขึ้นในการซื้อและการจ้างงาน ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตและราคาผลิตภัณฑ์ต่างเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว

พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 2564 ปรับเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 418.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่คาดไว้ว่าจะ ปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน และมีการปรับลดเล็กน้อย หลังจีนจะสั่งซื้อน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ เนื่องจากขณะนี้จีนกาลังเผชิญวิกฤตพลังงานอย่างหนัก หลังจาก รัฐบาลออกมาตรการให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าแบบหมุนเวียนกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตของจีนที่หดตัวลงในเดือนกันยายน สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 75.03 และ 78.52 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนกันยายน 2564 ราคายางภาพรวมปรับตัวลดลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจากนักลงทุนมีความกังวลว่าการผิดนัดชำระหนี้ของไชน่าเอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน คาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ในเดือนกันยายนนี้ มีฝนตกชุกและมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ซึ่งก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ทำให้บางพื้นที่ปลูกยางไม่สามารถกรีดผลผลิตยางได้ ส่งผลให้ปริมาณยางในภาพรวมยังคงออกสู่ตลาดน้อย อีกทั้ง ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า และการปรับขึ้นค่าระวางของสายการเดินเรือยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของการส่งออก สำหรับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศนั้นมีราคาเฉลี่ยต่ำกว่าเส้น MA 200 ซึ่งบ่งชี้ระยะยาวแนวโน้มราคาขาลง แต่ก็มีโอกาสฟื้นตัวในระยะกลาง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซื้อภายในประเทศมีความต้องการยางในการส่งมอบยางก่อนช่วงเทศกาลหยุดยาวในวันชาติ (1-7 ตุลาคม 2564) และในขณะเดียวกันนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีการเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 3 หลังจากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 3 (เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนมีนาคม 2565) โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม ราคาน้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม

ในเดือนสิงหาคม 2564  ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 394,264.92 ตัน เพิ่มขึ้น 11.14 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้น 18.31 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 2.12 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.16 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้น 67.46 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนสิงหาคม 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12.03 ล้านเส้น ลดลง 10.94 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.74 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.61 เปอร์เซ็นต์ yoy
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 104,144 คัน ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน  ลดลงจากเดือนสิงหาคมปีที่แล้วร้อยละ 11.18% และลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2564 ร้อยละ 15.44% เนื่องจากประสบปัญหาขาดชิปและชิ้นส่วนของรถยนต์จากการระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศทำให้ผู้ผลิตชิปและชิ้นส่วนรถยนต์ต้องปิดโรงงานชั่วคราว โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 62,223 คัน (59.75% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 41,921 คัน (40.25% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนสิงหาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 42,176 คัน ลดลงจากเดือนจากเดือนกรกฎาคม 2564 ร้อยละ 19.58 เพราะมีการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม มีการยกเลิกการจองและเลื่อนการรับรถออกไป และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,071,908 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – สิงหาคม 2563 ร้อยละ 31.89



หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด


 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com