E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  มิถุนายน 2557 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางธรรมชาติประจำเดือนมิถุนายน 2557

ตลาดยาง

ศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2557

ราคายางล่วงหน้าและราคายางท้องถิ่นในเอเชีย ลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ถึงแม้จะมีปัจจัยบวกต่างๆ หลายประการ ได้แก่ ดัชนี Dow Jones Industrial Average และ Nikkei ปรับตัวสูงขึ้น เงินเยนอ่อนค่าต่อดอลลาร์ ดัชนี PMI ของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 50.8 จาก 50.4 ในเดือนเมษายน ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.4 เปอร์เซ็นต์ และยอดขายรถยนต์ในอินเดียเพิ่มขึ้นด้วยตัวเลข 2 หลัก จึงสามารถสรุปได้ว่า  สถานการณ์ตลาดยางที่ซบเซายังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อราคายางอยู่

ศุกร์ที่ 13 มิถุนายน 2557

ราคายางในแถบเอเชียปรับตัวสูงขึ้นตามดัชนี Nikkei และราคาน้ำมันดิบ กอปรกับผู้ผลิตซื้อวัตถุดิบยางเพิ่มขึ้น สำนักงานสภาพอากาศ ออสเตรเลีย คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ จะกลับมาอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ปีนี้ สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ รายงานว่า ชาวสวนยางในประเทศสมาชิก พากันหยุดกรีดยาง เนื่องจากราคายางต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

ศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2557

ราคายางล่วงหน้าตลาดโตเกียว เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน ในขณะที่ราคายางล่วงหน้าตลาดเซี่ยงไฮ้ปิดบวกด้วยเช่นกันเนื่องจากสต็อกยางท่าเรือชิงเต่าและญี่ปุ่นปรับตัวลดลง กอปรกับอุปทานยางในประเทศผู้ผลิตลดน้อยลง และผู้ผลิตยางล้อซื้อวัตถุดิบยางมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี Dow Jone Industrial Average และ Nikkei ยังคงอยู่ในแดนบวก ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารกลางสหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำจนถึงปีหน้า


การผลิตการใช้ การนำเข้า และการส่งออก

กรมสถิติมาเลเซีย รายงานว่า มาเลเซียส่งออกยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น 5.6 เปอร์เซ็นต์ yoyในเดือนเมษายน เป็น 64,524 ตัน โดยในจำนวนนี้ 59,682 ตันเป็นยางแท่ง การนำเข้าลดลง 9.3 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 36,261 ตัน การผลิตลดลง 15.4 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 73,180 ตัน การใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ yoyโดยใช้ในอุตสาหกรรมถุงมือยาง 69.4 เปอร์เซ็นต์

สถาบันวิจัยยาง ประเทศไทย รายงานว่า ในเดือนเมษายน ไทยผลิตยางธรรมชาติลดลง 29 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 207,136 ตัน การส่งออกลดลง 23 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 211,774 ตัน ใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 45,000 ตัน กรมศุลกากร รายงานว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณพ์สำเร็จรูปในเดือนเมษายน ลดลง 19 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 15,008 ล้านบาท

ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกยางธรรมชาติทั้งสิ้น 239,000 ตัน ลดลง 20.2 เปอร์เซ็นต์ yoyโดยปริมาณ และ 39.2 เปอร์เซ็นต์ yoyโดยมูลค่า ราคายางเฉลี่ยลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 1,990 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกซบเซา ปริมาณยางในตลาด สวนทางกับอุปสงค์ ทำให้สต็อกยางเพิ่มสูงขึ้น รายงานล่าสุดของ IRSG เผยให้เห็นว่า ยางธรรมชาติปริมาณ 174,000 ตัน จะไม่สามารถขายออกได้ในปีนี้

คณะกรรมการยางอินเดีย รายงานว่า ในเดือนพฤษภาคม อินเดียนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด 64 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 34,419 ตัน เนื่องจากราคายางในตลาดต่างประเทศลดลง ทำให้ผู้ผลิตยางล้อในอินเดีย เพิ่มปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยางธรรมชาติ อินเดียใช้ยางในประเทศ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ 81,325 ตัน เป็น 83,500 ตัน คาดว่าอินเดียจะนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากเงินรูปีแข็งค่าขึ้น และราคายางในตลาดต่างประเทศลดลง


ยางล้อ

สมาคมอุตสาหกรรมยางจีน รายงานว่า จีนผลิตยางล้อจาก 250 ล้านหน่วยในปี 2548 มาเป็น 529 ล้านหน่วยในปี 2556 ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางล้ออันดับ 1 ของโลก โดยมีสัดส่วนการผลิตของบริษัทต่างชาติ 70 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทท้องถิ่นเพียง 30 เปอร์เซ็นต์

กูดเยียร์มีแผนสร้างโรงงานยางล้อใหม่ในรอบ 36 ปีในแถบอเมริกา ด้วยงบลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตยางล้อในช่วงแรก ที่ 6 ล้านหน่วยต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดอเมริกาเหนือและลาตินอเมริกา โดยจะเริ่มผลิตในปี 2560 ขณะนี้ กูดเยียร์ยังอยู่ระหว่างการเลือกสถานที่ตั้งโรงงาน ซึ่งอาจจะเป็นที่ Chester County รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอมริกา

บริจสโตนประกาศในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า จะเลื่อนการผลิตยางล้อ ณ โรงงานในประเทศไทย เนื่องจากอุปสงค์ยางล้อรถสำหรับงานเหมืองแร่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเลื่อนการผลิตออกไปเป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย

ฮันกุกชะลอการผลิตยางล้อ เนื่องจากมียางล้อจำนวนมากอยู่ในสต็อก ฮันกุกรายงานว่า ยางล้อจำนวน 660,000 หน่วยยังไม่สามารถขายออกได้ นับเป็นจำนวนสูงสุด ตั้งแต่ที่บริษัทตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2484 การคาดการณ์ล่วงหน้าว่า อุปสงค์ยางล้อจะฟื้นตัวหลังจากเดือนมีนาคมนั้น ไม่เป็นไปตามคาด หากอุปสงค์ยังคงเป็นเช่นเดิม ฮันกุกอาจจะต้องลดการผลิตยางล้อ ณ โรงงานแม่ ที่ประเทศเกาหลีใต้


ยานยนต์

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ยุโรป รายงานว่า การลงทะเบียนซื้อรถยนต์ใหม่ในสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 4.3 เปอร์เซ็นต์ เป็น1.13ล้านคันในเดือนพฤษภาคม โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 9 เดือน เนื่องจากความมั่นใจผู้ซื้อรถมีการฟื้นตัว โดยรวมแล้ว ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ยอดขายยานยนต์ในสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 6.6 เปอร์เซ็นต์ เป็น 5.62 ล้านคัน ตลาดรถยนต์ในยุโรปกำลังฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ที่เกิดขึ้นในปี 2556 คาดว่าความต้องการยานยนต์ในปีนี้ จะเติบโต 2-3 เปอร์เซ็นต์

UBS Securities คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ในจีนจะเพิ่มขึ้นด้วยเลข 2 หลักในปีนี้ ยอดขายรถยนต์ทั้งสิ้น จะเพิ่มขึ้น 10.7 เปอร์เซ็นต์ เป็นจำนวนกว่า 25 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้ รถยนต์นั่งจะเพิ่มขึ้น 11.8 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับ 13.9 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน และประมาณ 9.8 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้า ในขณะที่สมาคมรถยนต์นั่งจีน รายงานว่า เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนจะประกาศใช้มาตรการจำกัดการซื้อรถใน 10 เมืองหลักในเร็วๆ นี้ จะทำให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น 500,000 คัน ทางสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน กล่าวว่า ในปัจจุบัน จีนมีถนนและระบบสาธารณูปโภคที่สามารถรองรับยานพาหนะได้ 300 ล้านคัน คาดว่าจำนวนผู้ใช้รถในจีนจะแตะระดับ 1 พันล้านคน ใน 10-15 ปีข้างหน้า

ยอดขายรถยนต์ใหม่ในสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 11.3 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 1.6 ล้านคัน เนื่องจากอุปสงค์เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังฟื้นตัว ถือเป็นเดือนที่มียอดขายในอัตราคิดเป็นปี (Annualized rate) มากที่สุด นับตั้งแต่จุดต่ำสุดในปี 2551 โดยแตะระดับ 16.77 ล้านคัน ในขณะที่นักวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 16.1 ล้านคันในปีนี้ ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ เติบโตต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากอากาศหนาวจัดในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์

สมาคมผู้ค้ายานยนต์ญี่ปุ่น รายงานว่า ยอดขายยานพาหนะต่างๆ ในญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม ลดลง 1.2 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 363,370 คัน หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเพิ่มภาษีรถยนต์ในเดือนเมษายน ทำให้ยอดขายในเดือนเมษายนลดลง 5.5 เปอร์เซ็นต์

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์อินเดีย รายงานว่า ยอดขายรถยนต์นั่งในอินเดียในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 2.76 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 148,577 คัน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก การที่รัฐบาลอินเดียประกาศลดภาษียานพาหนะในเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่ยอดขายรถบรรทุกลดลง 15.28 เปอร์เซ็นต์ yoyเป็น 46,986 คัน โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 19 เดือน และอาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว

 

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com