รายงานสถานการณ์ยางพาราประจำเดือนมีนาคม 2559
(กรุณาคลิกที่รูปเพื่อขยาย หรือคลิก download file เพื่อดูด้วยโปรแกรม Adobe)
ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่กิโลกรัมละ 48.59 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 20.21 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุจากปัจจัยดังต่อไปนี้ ปริมาณวัตถุดิบที่ออกสู่ตลาดมีน้อย เพราะอยู่ในช่วงฤดูยางผลัดใบและภาวะอากาศที่ร้อนจัด ขณะที่ผู้ประกอบการเร่งซื้อเพื่อส่งมอบ เพราะเกรงจะขาดแคลนยาง ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ณ ตลาด Nymex สาเหตุจากสหรัฐฯ ลดการผลิตน้ำมัน และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเริ่มมีการเจรจาเกี่ยวกับการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน ส่งผลให้นักเก็งกำไรหันมาซื้อยางธรรมชาติมากขึ้น นโยบาย 3 ประเทศผู้ผลิตยาง คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จับมือลดการส่งออกยาง 15 เปอร์เซ็นต์นาน 6 เดือน อีกทั้งโครงการจับคู่ธุรกิจยางของรัฐบาล ตลอดจนมาตรการรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง ช่วยกระตุ้นราคายางได้ในระดับหนึ่ง ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รัฐบาลจีนยืนยันว่าสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาระยะ 5 ปี นักลงทุนตอบรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 339,414 ตัน เพิ่มขึ้น 13.42 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมกราคม และลดลง 3.39 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 13,160.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.77 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมกราคม และลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกุมภาพันธ์ ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 638,673 ตัน ลดลง 7.49 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 25,260.60 ล้านบาท ลดลง 21.1 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ไทยผลิตยางล้อรวมทั้งสิ้น 9.14 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 20.6 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9.72 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.32 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกุมภาพันธ์ ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 16.78 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 5.48 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 17.75 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.75 เปอร์เซ็นต์ yoy
|