รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนสิงหาคม 2563
ในเดือนสิงหาคม 2563 ราคายางโดยภาพรวมปรับตัวตามความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางเดียวกันกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ โดยราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่กิโลกรัมละ 50.12 เพิ่มขึ้น (+14.17%) จาก 43.90 บาท/กิโลกรัมในเดือนกรกฎาคม 2563
ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวยังอ่อนแอแม้กระเตื้องขึ้นบ้าง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากทั้งสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 การแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงประเด็นทางการเมือง และความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสฯ เมื่อทยอยเปิดประเทศ การออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควรออกมาในขนาดที่เพียงพอและทันถ่วงทีทันเหตุการณ์ หากมีการดำเนินการล่าช้า จะส่งผลต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการจนทำให้บางกิจการต้องตัดสินใจปิดตัวลงได้
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกรกฎาคม 2563 เพิ่มขึ้นจาก 80.0 เดือนมิถุนายนมาอยู่ที่ 82.5 เนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจการต่างๆ กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ความต้องการใช้สินค้ามากขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งการส่งเสริมการขายต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และในขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลด้านสภาพคล่อง สินเชื่อ และการกลับมาระบาดรอบ 2 ของ COVID-19 ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งถัดไปได้กำหนดประชุมในวันพุธที่ 23 กันยายน 2563
เดือนกรกฎาคม 2563 ส่งออกมูลค่า 579,654.29 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2562 ร้อยละ 11.61 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาร้อยละ 11.34 เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่า 18,819.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2562 ร้อยละ 11.37 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ร้อยละ 14.44 ในช่วงมกราคม–กรกฎาคม ปี 2563 ส่งออกมูลค่า 4,141,982.21 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 8.77 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งออกมูลค่า 133,162.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.72 ดุลการค้าเดือนกรกฎาคม 2563 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 96,344.56 ล้านบาท เปลี่ยนจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ขาดดุลการค้ามูลค้า 2,571.25 ล้านบาท และในช่วงมกราคม – กรกฎาคม ปี 2563 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 389,496.80 ล้านบาท...(อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.1 (+4.32%) จากระดับ 50.9 ในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปีที่แล้ว และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 45.9 ในเดือนกรกฎาคม 2563 มาอยู่ที่ 49.7 (+8.28%) ในเดือนสิงหาคม 2563
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์มีการปรับตัวลดลง โดยเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 42.97 และ 45.05 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ หลังจากเฮอริเคนลอร่าเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่รัฐหลุยเซียนาและเท็กซัสในสหรัฐฯ โรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ได้หยุดการดำเนินการชั่วคราว โดยคิดเป็นกำลังการกลั่นราว 2.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของกำลังการกลั่นน้ำมันทั้งหมดในสหรัฐฯ แม้เหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะสร้างความเสียหายไม่มากนัก แต่ตลาดยังคงกังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและความต้องการใช้น้ำมันของโลก
ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA)รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 21 ส.ค. 63 ปรับตัวลดลงกว่า 4.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 508 ล้านบาร์เรล เนื่องจากสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบสูงสุดในรอบ 18 เดือน
ในเดือนกรกฎาคม 2563 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 314,345.72 ตัน ลดลง 7.18 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมิถุนายน 2563 ลดลง 6.96 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.17 หมื่นล้านบาท ลดลง 12.40 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมิถุนายน 2563 ลดลง 25.44 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนกรกฎาคม 2563 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12.57 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 6.95 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.53 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.17 เปอร์เซ็นต์ yoy จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตเพื่อส่งออก เดือนกรกฎาคม 2563 ผลิตได้ 43,640 คัน เท่ากับร้อยละ 48.85 ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจำนวน 45,696 คัน เท่ากับร้อยละ 51.15 ของยอดการผลิตทั้งหมด รวมผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม 2563 มีทั้งสิ้น 89,336 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2562 ร้อยละ 47.71 จากการผลิตเพื่อส่งออกลดลงร้อยละ 47.42 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 47.98 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 ร้อยละ 24.59 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่กลับมาเปิดทำการ และโรงงานเริ่มเปิดสายการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 695,468 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2562 ร้อยละ 43.77
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|