E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  มกราคม 2566 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมกราคม 2566

เศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่ยังเผชิญปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่กระจายตัวอย่างต่อเนื่อง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย วิกฤตปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ การฟื้นตัวของโควิด-19 ในจีน ปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้า ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะต้นทุนราคาพลังงานสูงขึ้นจากค่าไฟฟ้าเป็นหลัก ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งส่งกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างชัดเจน ในปัจจุบันหลายประเทศได้ให้ความสำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) การยุติการตัดไม้ทำลายป่า (Zero-Deforestation) และความยั่งยืน (Sustainability) เป็นต้น และในขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องปรับตัวและรับมือกับกระแสดังกล่าวเช่นกัน ล่าสุดทาง International Monetary Fund (IMF) ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของโลกจะลดลงเหลือ 2.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2566 แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2567

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2566 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนมกราคม 2566 ปรับตัวลดลงเพิ่มขึ้นจาก 92.6 เป็น 93.9 เนื่องจากมีการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ มาตรการช้อปดีมีคืน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่ยังคงมีปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแอลง สภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น การแข็งค่าเงินบาท และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.3 จากระดับ 50.4 ในเดือนก่อนหน้า

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนธันวาคม 2565 ส่งออกมูลค่า 776,323.57 ล้านบาท (21,718.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ร้อยละ 6.08 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาร้อยละ 8.26 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 823,081.46 ล้านบาท (22,752.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ร้อยละ 3.34 และลดลงจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาร้อยละ 9.27 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 46,757.89 ล้านบาท (ขาดดุล 1,033.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนมกราคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 46.9 จากระดับ 46.2 ในเดือนธันวาคม 2565 ความต้องการของลูกค้าและคำสั่งซื้อใหม่ลดลง ทั้งในและต่างประเทศ ได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.5 จากระดับ 52.5 ในเดือนธันวาคม 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการขยายตัวดีขึ้น โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในด้านผลผลิต คำสั่งซื้อสินค้าใหม่ และจำนวนพนักงานและสต็อกวัตถุดิบที่ซื้อ

พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 27 ม.ค. 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบมีทรงตัว หลังตลาดจับตามองการประชุมของ FED ที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ย ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศ อย่างไรก็ตามตลาดยังคงจับตามองการประชุม JMMC Meeting ของ OPEC+ ว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตตามแผนเดิมหรือไม่ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 78.87 และ 84.49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนมกราคม 2566 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ภาพรวมปรับตัวในกรอบแคบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวในเดือนที่ผ่านมา ส่วนราคาล่วงหน้าต่างประเทศมีการปรับตัวขยับขึ้น ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ การยืดเยื้อของสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันตลาด ทำให้มีการชะลอตัวตาม สภาพภูมิอากาศพื้นที่ทางภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีอากาศหนาว และมีหมอกในบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกปริมาณลดลง แต่ยังมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มาเป็นระยะ ๆ ทำให้มีฝนตกหนักในบางแห่ง ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าที่อาจจะส่งผลต่อระยะยาว เดือนธันวาคม 2565 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ จำนวน 388,920 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.89 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 9.7 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.7 หมื่นล้านบาท

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 158,606 คัน เพิ่มขึ้น 2.75% จากปีก่อน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 85,766 คัน (54.07% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนธันวาคม 2565 จำนวน 72,840 คัน (45.93% ของยอดการผลิตทั้งหมด)  จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม–ธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,883,515 คัน เพิ่มขึ้นจากมกราคม–ธันวาคม 2564 ร้อยละ 11.73 ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 82,799 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2565 ร้อยละ 21.26 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 9.02 เพราะผลิตลดลงจากการขาดชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ของรถยนต์บางรุ่น


หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com