รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนสิงหาคม 2564
เศรษฐกิจโลก: เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีความสามารถควบคุมการแพร่เชื้อของ COVID-19 ได้ดี ทำให้ภาคการผลิตยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะมีการระบาดของเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ ส่วนภาคบริการยังคงมีมาตรการควบคุมเข้มงวดจึงฟื้นตัวได้ช้า อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความคืบหน้าการเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพการป้องกัน COVID-19 แบบกลายพันธุ์ ในขณะที่หลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตา
เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่ายังคงฟื้นตัวช้า เนื่องด้วยผลกระทบเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตลอดจนมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง โดยมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน การส่งออกสินค้าแผ่วลงจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากโครงการ Phuket Sandbox แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และต้นทุนค่าขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม เช่น ความเสี่ยงจากปัญหา Supply Disruption ทั้งการแพร่ระบาดในโรงงาน รวมถึงการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี และกำหนดประชุมในวันพุธที่ 29 กันยายน 2564
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงจาก 80.7 เป็น 78.9 เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลายและมีการกระจายวงกว้าง ทำให้ส่งผลต่อภาคการผลิต เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน อีกทั้ง มีมาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว แต่ยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และยังส่งผลให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs และประชาชนมีรายได้ลดลง จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ รวมถึงราคาน้ำมันและการเมืองในประเทศก็ยังคงเป็นปัจจัยของผู้ประกอบการ สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกรกฎาคม 2564 ส่งออกมูลค่า 708,651.66 ล้านบาท (22,650.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 22.16 แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาร้อยละ 3.99 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 712,613.16 ล้านบาท (22,467.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 48.22 แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาร้อยละ 0.84 ดุลการค้าเดือนกรกฎาคม 2564 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 3,961.50 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุล 183.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนสิงหาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 61.1 จากระดับ 63.4 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยมีข้อจำกัดในการผลิตเนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก ส่วนการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเผยโดย ADP ว่าเพิ่มขึ้นเพียง 374,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 613,000 ตำแหน่ง อีกทั้ง บรรดานักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยังไม่มีแนวโน้มที่จะประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ในการประชุมเดือนนี้ และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 48.3 (-0.82%) จากระดับ 48.7 ในเดือนกรกฎาคม 2564 อุปสงค์และการผลิตปรับตัวลดลง เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศมีความระมัดระวังมากขึ้นในการซื้อและการจ้างงาน และในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตและราคาผลิตภัณฑ์ต่างเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 27 ส.ค. 2564 ปรับลดลง 7.2 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 425.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ก.ย. 2562 ราคาน้ำมันดิบเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการเพิ่มปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร รวมถึง ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเม็กซิโกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติ อีกทั้งโรงกลั่นบริเวณอ่าวเม็กซิโกได้รับผลกระทบจากพายุไอดา ส่งผลให้ขาดกระแสไฟฟ้าและน้ำท่วมจนต้องมีการหยุดดำเนินการผลิตชั่วคราว ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศมีการบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันและเศรษฐกิจ สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 68.50 และ 72.99 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนสิงหาคม 2564 ปริมาณยางโดยภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคายางภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซื้อภายในประเทศมีความต้องการยางในการส่งมอบ และมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางจากหน่วยงานภาครัฐ ส่วนตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ มีราคาเฉลี่ยเหนือเส้น MA 200 ซึ่งบ่งชี้ระยะยาวแนวโน้มราคาอยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่ก็มีโอกาสย่อตัวลงในระยะกลาง ในขณะเดียวกันตลาดล่วงหน้าโตเกียวมีการปรับตัวลดลงราว 1% ในส่วนเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะมีฝนตกชุกมากที่สุดในรอบปีและมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ทำให้บางพื้นที่ปลูกยางไม่สามารถกรีดผลผลิตยางได้ทำให้ปริมาณยางในภาพรวมยังคงออกสู่ตลาดน้อย อีกทั้ง ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า และการปรับขึ้นค่าระวางของสายการเดินเรือยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเพิ่มขึ้น 4 - 5 เท่า เนื่องจากการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของการส่งออก โดยเฉพาะโซนอเมริกา
ในเดือนกรกฎาคม 2564 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 354,740.51 ตัน เพิ่มขึ้น 4.75 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้น 12.85 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.93 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.19 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้น 64.50 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนกรกฎาคม 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12.25 ล้านเส้น ลดลง 2.54 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.68 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.76 เปอร์เซ็นต์ yoy
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 122,852 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ 37.52% แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 8.49% เนื่องด้วยผลิตได้ไม่เต็มที่จากประสบปัญหาขาดชิปที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญ จึงต้องชะลอการผลิตรถยนต์ในบางรุ่น โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 69,934 คัน (56.93% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 52,918 คัน (43.07% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 52,442 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 15.08 เพราะมีการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม มีการยกเลิกการจองและเลื่อนการรับรถออกไป และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 967,453 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 ร้อยละ 39.11
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|