รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนตุลาคม 2565
กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะชะลอตัวเป็นวงกว้างและรุนแรง วิกฤตค่าครองชีพ ภาวะการเงินตึงตัวในภูมิภาคส่วนใหญ่ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ล้วนส่งผลกระทบในวงกว้าง ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ลงจาก 2.9% ไปที่ 2.7% พร้อมส่งสัญญาณกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อชะลอเงินเฟ้อ นอกจากนี้ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ทั้งจากธนาคารกลางที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความเปราะบางและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินของระบบการเงินโลก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง ทั้งเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว และสงคราม พร้อมย้ำนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% และ 3.8% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ผลจากภาคการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ และเห็นได้ว่าเงินเฟ้อทั่วโลกนั้นสูงขึ้น แต่ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ ทั้งด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 91.8 เป็น 93.1 เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวส่งสัญญาณที่ดีขึ้น มาตรการดูแลพลังงานของภาครัฐ ปัญหาขาดแคลนชิปเริ่มคลี่คลาย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเผชิญปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมกับเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.7 จากระดับ 46.4 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2565 ส่งออกมูลค่า 888,371.08 ล้านบาท (24,919.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2564 ร้อยละ 16.44 และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาร้อยละ 3.16 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 929,731.86 ล้านบาท (25,772.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2564 ร้อยละ 15.62 แต่ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาร้อยละ 7.45 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 624,784.60 ล้านบาท(14,984.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 50.4 จากระดับ 52.0 ในเดือนกันยายน 2565 เนื่องด้วยอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง มีการชะลอการซื้อวัตถุดิบ และในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.6 จากระดับ 55.7 ในเดือนกันยายน 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลง สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเติบโตในระดับที่ช้าลง จากผลกระทบภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก
ยางพารา: ในเดือนตุลาคม 2565 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ภาพรวมปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมา แต่ราคายางตลาดล่วงหน้าโตเกียวย่อตัวลง สภาพภูมิอากาศพื้นที่ทางภาคเหนือ-วันออกเฉียงเหนือ เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ส่งผลให้ปริมาณยางเริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันสภาพภูมิอากาศทางใต้ที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจทำให้ผลผลิตปรับตัวลดลง ทั้งนี้ยังมีปัจจัยจากแนวโน้มจากเศรษฐกิจจีน ที่พบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น ได้มีการประกาศ Lockdown รอบใหม่ และมีการชะลอคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อต่างประเทศ ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 430,550 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 2.35 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 9.55 ล้านเส้น สร้างมูลค่าการส่งออก 1.88 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกันยายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 179,237 คัน เพิ่มขึ้น 4.37% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 27.99% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 106,190 คัน (59.25% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนกันยายน 2565 จำนวน 73,047 คัน (40.75% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกันยายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 74,150 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2565 ร้อยละ 8.71 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 15.64
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|