รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566
ภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ-เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส โดยกองทัพอิสราเอลประกาศพักรบ เพื่อทำข้อตกลงแลกตัวประกันราว 400 คน อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ที่อาจจะมีการยืดเยื้อออกไปอีก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 99.1 ในเดือนตุลาคม 2566 เป็น 102.0 ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ส่วนเศรษฐกิจจีนที่เผชิญวิกฤต ภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดจีนได้ปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อบรรเทาวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยช่วยกระตุ้นทั้งด้านอุปทาน (Supply) และอุปสงค์ (Demand)
ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือนพฤศจิกายน 2566 ลดลงร้อยละ 0.44 (YOY) ผลจากราคากลุ่มพลังงานที่ปรับลดลงตามนโยบายของภาครัฐ ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2566 และ 2567 ที่ 2.5 และ 2.7-.37 ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนพฤศจิกายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 88.4 เป็น 90.9 เนื่องจากการขยายตัวของการบริโภค และภาคการท่องเที่ยว ภาคการผลิตเร่งขึ้นในช่วงปลายปี มาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน และในขณะเดียวกันปัญหาหนี้ครัวเรือนยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรติดตามสถานการณ์ และออกมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะด้านกลุ่มพลังงาน เช่น การปรับลดค่าไฟฟ้าแปรผัน (Ft) ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ มาตรการตรึงราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนตุลาคม 2566 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 55.8 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤศจิกายน 2566 ส่งออกมูลค่า 23,479.71 ล้านเหรียญสหรัฐ (847,486.08 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (847,486 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 10.1 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (97,387 ล้านบาท) ทั้งนี้ การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 261,770.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในขณะเดียวกันหากคิดมูลค่าในรูปเงินบาท ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 9,013,184 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูลเบื้องต้น ปี2566)
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ย. 2566 ปรับเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 15.5 ล้านบาร์เรล ภายหลังการประชุมกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมานั้น ซาอุดิอาระเบียและชาติสมาชิกอีก 7 ประเทศ อาสาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายหลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และยังเปิดเผยอีกว่าบราซิลจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกรายใหม่ของ OPEC+ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่องจากข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวเป็นระยะเวลา 6 วัน ในวันที่ 24-29 พ.ย. 66 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 75.96 และ 82.83 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคายางภาพรวมภายในประเทศปรับตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณฝนเริ่มลดลง ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติเดือนตุลาคม 2566 ปริมาณ 350,946 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.69 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 12.7 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.13 หมื่นล้านบาท
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|