E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  มิถุนายน 2565 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมิถุนายน 2565

แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น การล็อคดาวน์ในประเทศจีน ปัญหาของระบบห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ในปีนี้ และอาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับหลาย ๆ ประเทศ แม้แต่สหรัฐฯ เอง หาก GDP สหรัฐยังหดตัวต่อในไตรมาส 2/2565 โดยล่าสุด (7 มิ.ย.) ทาง World Bank ได้รายงานปรับลดคาดการณ์ GDP โลกจาก 4.1% เหลือเพียง 2.9% ส่วนไทยลดลงจาก 3.9% เหลือ 2.9% อีกทั้งยังเตือนความเสี่ยง “Stagflation” สำหรับประเทศไทย เรากำลังเผชิญวิกฤตราคาน้ำมันแพง เงินเฟ้อสูง กระทบค่าครองชีพ แต่ยังคงมีแรงหนุนสำคัญจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและส่งออก

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดย 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี เนื่องด้วยการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด มองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด ยังต้องติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลงจาก 86.2 เป็น 84.3 เนื่องจากการสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อและรุนแรง ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งการปิดเมืองของจีนยังส่งผลให้เกิด Supply Shortage จากปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จึงอยากให้ภาครัฐดูแลอัตราเงินเฟ้อ ออกมาตรการดูแลราคาพลังงานและเชื้อเพลิง ช่วยเจรจาจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่มีศักยภาพมาทดแทน เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ สารเคมี เป็นต้น เร่งแก้ไข ปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชน ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.3 จากระดับ 44.7 ในเดือนก่อนหน้า

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤษภาคม 2565 ส่งออกมูลค่า 854,371.59 ล้านบาท (25,508.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2564 ร้อยละ 19.34 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาร้อยละ 9.23 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 928,889.55 ล้านบาท (27,383.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2564 ร้อยละ 33.95 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาร้อยละ 8.48 ดุลการค้า เดือนพฤษภาคม 2565 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 74,517.96 ล้านบาท (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 52.7 จากระดับ 57.0 ในเดือนพฤษภาคม 2565 เนื่องด้วยการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ความกังวลและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรม แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง และในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2565 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.7 จากระดับ 51.9 ในเดือนพฤษภาคม 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยปรับตัวลดลง จากสภาวะอุปสงค์โดยรวมที่ลดลง เป็นสาเหตุให้เกิดความกังวล อีกทั้งแรงกดดันด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความสามารถการใช้จ่ายลดลง

พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ปรับตัวลดลงกว่า 3.8 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวในระดับสูง จากการที่ตลาดกังวลอุปทานน้ำมันยังคงตึงตัว หลังซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่อาจไม่สามารถเพิ่มการผลิตขึ้นได้อีกมากนัก ในขณะเดียวกันนี้ การประชุมผู้นำ G7 เห็นพ้องที่จะหาทางจำกัดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซียในตลาดโลกจากการที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 105.76 และ 114.81 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนมิถุนายน 2565 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น มีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาในทิศทางเดียวกับราคายางตลาดล่วงหน้าโตเกียว โดยมีปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญต่อไปจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ในช่วงปลาย เดือนพฤษภาคม – ต้นเดือนมิถุนายน ราคาน้ำยางสดมีการแกว่งตัวค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเกิดความกังวลใจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกชุก ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย อีกทั้งอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยาง เริ่มปรับลดชะลอตัวลง และราคาของน้ำยางจะปรับสู่สมดุลตามหลักอุปสงค์และอุปทานต่อไป โดยไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 390,792.53 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 2.37 หมื่นล้านบาท สำหรับภาคยางล้อ ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12.66 ล้านเส้น สร้างมูลค่าการส่งออก 2.08 หมื่นล้านบาท 

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 129,231 คัน เพิ่มขึ้น 9.72% จากเดือนก่อนหน้า แต่ลดลง 7.80% (YoY) โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 65,839 คัน (50.95% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนพฤษภาคม 2565 จำนวน 63,392 คัน (49.05% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤษภาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,735 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2565 ร้อยละ 2.06 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 15.71 เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายการ ล็อกดาวน์มากขึ้นของรัฐบาล

 
 หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด


 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com