E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  สิงหาคม 2567 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนสิงหาคม 2567

เศรษฐกิจโลกปี 2567 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง สะท้อนจากการหดตัวของภาคการผลิต ดัชนี PMI ของสหรัฐฯรวมภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 54.1 ชะลอจากเดือนก่อนที่ 54.3 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิม 101.9 ในเดือนกรกฏาคม 2567 เป็น 103.3 ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยรวมแม้ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปรับตัวดีขึ้นในกรอบแคบๆ แต่ก็ยังคงมีความกังวลต่อภาวะการจ้างงานในตลาด อีกทั้ง อัตราเงินเฟ้อทยอยลดลง ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน

เศรษฐกิจไทย ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่ายในประเทศยังอ่อนแอ แม้การท่องเที่ยว และภาคส่งออกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาส 3 โดย ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความต่อเนื่องในการเติบโตท่ามกลางข้อจำกัด การขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.62 (YoY) ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2567 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (YoY) ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือนสิงหาคม 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.35 (YoY) อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูง ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและงบประมาณปี 2568 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนสิงหาคม 2567 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.5 จากระดับ 49.7 ในเดือนก่อนหน้า

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนสิงหาคม 2567 ส่งออกมูลค่า 26,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (939,521 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 (YoY) เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 25,917.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (941,019 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 (YoY) ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 264.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขาดดุล 1,497 ล้านบาท) (อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูลเบื้องต้น ปี 2567)

พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2567 ปรับตัวลดลง 6.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 418.3 ล้านบาร์เรล OPEC+ ตัดสินใจที่จะชะลอแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 2 เดือน และระบุว่าอาจมีการหยุดผลิตชั่วคราวหรือเปลี่ยนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบหากจำเป็น หลังสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ (The Conference Board: CB) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 100.3 ในเดือนกรกฎาคม 2567 เป็น 103.3 ในเดือนสิงหาคม 2567 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 75.91 และ 79.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนสิงหาคม 2567 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคายางภายในประเทศภาพรวมมีการปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศโดย ราคายางในตลาดสิงคโปร์ (SICOM) ราคาเฉลี่ย 173.57 เซนต์ต่อกิโลกรัม โดยสภาพอากาศมีผลต่อการการกรีดยางและปริมาณยางพารา ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ผลิตส่งผลต่ออุปทานวัตถุดิบ ซึ่งอุปทานที่ตึงตัวส่งผลให้ราคายางปรับตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน และความคืบหน้าของมาตรการ EUDR ต่อไป ทั้งนี้ ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติเดือนสิงหาคม 2567 จำนวน 390,936.64 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.58 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนสิงหาคม 2567 ไทยส่งออกยางล้อ 13.3 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.43 หมื่นล้านบาท

กลุ่มยานยนต์: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2567 มีทั้งสิ้น 119,680 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2566 ร้อยละ 20.56 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในเดือนสิงหาคม 2567 จำนวน 36,892 คัน เท่ากับร้อยละ 30.83 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2566 ร้อยละ 40.49 ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนสิงหาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 45,190 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2567 ร้อยละ 2.60 และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 24.98


หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com