E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  สิงหาคม 2565 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนสิงหาคม 2565

การเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวและทวีความรุนแรงขึ้น ท่ามกลางสงครามยูเครน อัตราเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว หลัง FED ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเพื่อสกัดเงินเฟ้อซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจและตลาดแรงงานชะลอลง ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยว่าจะมีการปรับขึ้น 0.75-1.00% ในการประชุม 20 – 21 ก.ย. หรือไม่ ส่วนสหภาพยุโรป (EU) ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านพลังงานที่สำคัญ อันเนื่องมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ด้านน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยผู้นำยุโรปอยู่ในช่วงหารือพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขหลายประการ เช่น การปันส่วนเชื้อเพลิง การแยกราคาค่าไฟฟ้าออกจากราคาก๊าซ เป็นต้น สหภาพยุโรปอาจมีการขาดแคลนพลังงาน และอาจจะเป็นฤดูหนาวที่ยากลำบากในฤดูกาลนี้ได้ หากไม่เร่งบริหารจัดการทรัพยากรให้ดี ส่วนทิศทางของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีผลกระทบเชิงบวกจากภาคการท่องเที่ยว การก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ และในขณะเดียวกันกำลังซื้อยังอ่อนแอ ส่วนสภาวะตลาดแรงงานในช่วงครึ่งปีแรกมีการฟื้นตัวช้าและอยู่ภายใต้ความเปราะบาง เทียบจากอัตราการว่างงานและว่างงานแฝงรวมกันราว 1.3 ล้านคน ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2565 โดยเตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.65 โดยประเมินรอบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3-7% ในรอบ 2 ปี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้รายงานผลการประชุม ครั้งที่ 4/2565 โดยคณะกรรมการฯ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีจากร้อยละ 0.50 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้1 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ต่อปี ตามที่ทางครม. ได้มีมติอนุมัติโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ที่จะเริ่มใช้ในเดือนก.ย.65 นั้น หวังว่าจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายรายวัน-ค่าครองชีพได้บางส่วน โดยเฉพาะค่าอาหารต่าง ๆ แต่สิ่งที่อยากให้ทางหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนสิ่งที่จะกระทบต่อประชาชนในภาพรวมเพิ่มเติม เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าที่จำเป็นต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ หลังต้องเผชิญฝนตกหนัก

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 86.3 เป็น 89.0 เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม การอ่อนค่าเงินบาท แต่ผลกระทบยังคงมาจากราคาต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกรกฎาคม 2565 ส่งออกมูลค่า 829,028.81 ล้านบาท (23,629.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2564 ร้อยละ 17.00 แต่ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาร้อยละ 8.63 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 968,939.86 ล้านบาท (27,289.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2564 ร้อยละ 38.66 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาร้อยละ 0.26 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 139,911.05 ล้านบาท (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 51.5 จากระดับ 52.2 ในเดือนกรกฎาคม 2565 เนื่องด้วยความต้องการสินค้าลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง และในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 53.7 จากระดับ 52.4 ในเดือนกรกฎาคม 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการจ้างงานลดลง

พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 26 ส.ค. 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.9 แสนบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบมีการปรับลดลง เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัว หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน ขณะเดียวกันซาอุดีอาระเบียได้ส่งสัญญาณว่ากลุ่มโอเปกพร้อมที่จะปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อพยุงราคาน้ำมัน โดยจะปรับลดให้สอดคล้องกับปริมาณการส่งออกของอิหร่านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งตลาดยังกังวลอุปทานก๊าซตึงตัว หลัง บ. Gazprom ยังคงหยุดส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังประเทศในยุโรป ที่ไม่ยอมชำระค่าก๊าซเป็นเงินสกุล rubles และปรับลดการส่งออกไปยังเยอรมนีผ่านทางท่อ Nord Stream 1 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 89.55 และ 96.49 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนสิงหาคม 2565 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ภาพรวมปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมาในทิศทางเดียวกับราคายางตลาดล่วงหน้าโตเกียวทรงตัวในทิศทางลดลง การส่งออกยางพารามีแนวโน้มชะลอตัวลง จากความต้องการถุงมือลดลงไปมาก เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้สต๊อกยังเหลือค่อนข้างเยอะ ส่งผลทำให้การชะลอซื้อตามกันไปหมด อีกทั้ง ประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นอีก โดยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60–80 ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก อีกทั้งทั่วโลกยังเผชิญภาวะขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในขณะนี้ แม้ภาพรวมสถานการณ์ค่าระวางดีขึ้น และค่อนข้างคงที่ ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 426,943.96 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 2.51 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 11.36 ล้านเส้น สร้างมูลค่าการส่งออก 1.99 หมื่นล้านบาท

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 142,958 คัน ลดลง 0.04% จากเดือนก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2564 ร้อยละ 16.07% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 71,387 คัน (49.94% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 71,571 คัน (50.06% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกรกฎาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,033 คัน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 5.77 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 22.10 เพิ่มขึ้นเนื่องจากการคลายล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นและการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น


หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com