ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่กิโลกรัมละ 55.33 บาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 5.79 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสาเหตุจากปัจจัยดังต่อไปนี้ ภาวะอากาศในเขตภาคใต้เริ่มดีขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถกรีดยางได้เพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ผู้บริโภคคาดว่าอุปทานยางจะเพิ่มขึ้นจึงชะลอซื้อ ขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศเริ่มปรับราคาลงเพื่อลดภาวะขาดทุน หลังจากได้ส่งมอบบางส่วนแล้ว จึงไม่เร่งซื้อ เงินเยนผันผวนและแข็งค่าขึ้น (เฉลี่ย 100.47 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสัปดาห์ที่ 4) สต็อกยางจีน ณ ตลาดเซี่ยงไฮ้ เพิ่มขึ้นแตะระดับ 360,768 ตัน ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2559 นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน หลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ภาวะอ่อนแอของเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่ มีรายงานว่าภาคการส่งออกของจีนในปีนี้อาจปรับตัวลดลงมากกว่าปี 2558 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวมาอยู่ที่ 6.0 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากเดือนมิถุนายนที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 มีรายงานว่าสถาบันการเงินของจีนมียอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไตรมาส 2 ลดลงจากไตรมาสแรก และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนลดลง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม เป็นต้น ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นอ่อนแอเกินคาดในเดือนกรกฎาคม GDP ไตรมาส 2 ของญี่ปุ่นขยายตัวเพียง 0.2 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากที่ขยายตัว 1.9 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรก
ในเดือนกรกฎาคม 2559 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 302,336 ตัน ลดลง 3.56 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมิถุนายน และลดลง 12.66 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 12,438 ล้านบาท ลดลง 1.34 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมิถุนายน และลดลง 30.51 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกรกฎาคม ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 2,200,287 ตัน ลดลง 8.22 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 90,961 ล้านบาท ลดลง 20.72 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนกรกฎาคม 2559 ไทยผลิตยางล้อรวมทั้งสิ้น 9.34 ล้านเส้น ลดลง 2.60 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.09 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.11 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกรกฎาคม ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 64.82 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 5.80 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 7.09 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.29 เปอร์เซ็นต์ yoy