รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกันยายน 2563
ในเดือนกันยายน 2563 ราคายางโดยภาพรวมยังคงผันผวน ซึ่งมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องด้วยกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางมีฝนตก รวมทั้งไทยที่มีฝนตกชุกร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ภาคใต้ และแรงงานส่วนใหญ่เดินทางกลับประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง รวมทั้งการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงในยางพารา ส่งผลให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อย อีกทั้งราคาน้ำมันดิบมีความผันผวน และยังคงมีความต้องการของถุงมือและยางยืด แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย รวมถึงความกังวลการแพร่ระบาด COVID-19 รอบ 2 อาจเป็นปัจจัยกดดันราคายาง โดยราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนกันยายน 2563 อยู่ที่กิโลกรัมละ 56.91 เพิ่มขึ้น (+13.54%) จาก 50.12 บาท/กิโลกรัมในเดือนสิงหาคม 2563
เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว เนื่องด้วยอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้าง แต่ตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอ การจ้างงานและรายได้ยังคงเปราะบางและใช้เวลาฟื้นตัวนาน จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป เงินเฟ้อเดือนก.ย.63 ติดลบ 0.70% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน การฟื้นตัวระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันมาก การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนสิงหาคม 2563 เพิ่มขึ้นจาก 82.5 เดือนกรกฎาคมมาอยู่ที่ 84.0 เนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจการทางเศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ภาคการผลิตมีการขยายตัวตามความต้องการใช้สินค้ามากขึ้น และในขณะเดียวกันด้านผู้บริโภคยังมีความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จึงระมัดระวังด้านการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนด้านผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลด้านสภาพคล่อง สินเชื่อ และการกลับมาระบาดรอบ 2 ของ COVID-19 ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่6/2563 เมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน 2563 มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี
เดือนสิงหาคม 2563 ส่งออกมูลค่า 635,219.53 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2562 ร้อยละ 5.43 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาร้อยละ 9.59 เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่า 20,212.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2562 ร้อยละ 7.94 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 7.40 ในช่วงมกราคม – สิงหาคม ปี 2563 ส่งออกมูลค่า 4,777,201.74 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 8.34 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งออกมูลค่า 153,374.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.75 ดุลการค้าเดือนสิงหาคม 2563 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 129,836.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2562 ที่เกินดุลการค้ามูลค้า 58,765.04 ล้านบาท ร้อยละ 120.94 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้ามูลค้า 4,349.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ...(อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.2 (+0.19%) จากระดับ 53.1 ในเดือนสิงหาคม 2563 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 49.7 ในเดือนสิงหาคม 2563 มาอยู่ที่ 49.9 (+0.4%) ในเดือนกันยายน 2563
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์มีการปรับตัวในช่วงแคบๆ โดยเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 40.22 และ 40.95 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ หลังตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่ม เนื่องจากลิเบียเตรียมปรับเพิ่มกำลังการผลิต แต่ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังกำลังการผลิตได้รับผลกระทบจากพายุเขตร้อนเบต้าที่พัดขึ้นฝั่งบริเวณตอนกลางของอ่าวเม็กซิโก ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 25 ก.ย. 63 ปรับตัวลดลงราว 2 ล้านบาร์เรล หลังการนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง
ในเดือนสิงหาคม 2563 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 333,259.36 ตัน เพิ่มขึ้น 6.02 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกรกฎาคม 2563 ลดลง 4.35 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.21 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกรกฎาคม 2563 ลดลง 16.77 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนสิงหาคม 2563 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 13.51 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 11.85 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.45 เปอร์เซ็นต์ yoy
จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตเพื่อส่งออก เดือนสิงหาคม 2563 ผลิตได้ 51,441 คัน เท่ากับร้อยละ 43.87 ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศจำนวน 65,812 คัน เท่ากับร้อยละ 56.13 ของยอดการผลิตทั้งหมด รวมผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2563 มีทั้งสิ้น 117,253 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2562 ร้อยละ 29.52 จากการผลิตเพื่อส่งออกลดลงร้อยละ 38.28 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 20.73 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2563 ร้อยละ 31.25 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่กลับมาเปิดทำการปกติ ส่วนจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – สิงหาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 812,721 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2562 ร้อยละ 42.08
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|