รายงานสถานการณ์ยางพาราประจำเดือนมกราคม 2559
(กรุณาคลิกที่รูปเพื่อขยาย หรือคลิก download file เพื่อดูด้วยโปรแกรม Adobe)
ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนมกราคม 2559 อยู่ที่กิโลกรัมละ 38.66 บาท ลดลงจากเดือนธันวาคม 3.85 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุจากปัจจัยดังต่อไปนี้ เงินเยนผันผวนและแข็งค่า ทำให้นักเก็งกำไรชะลอการซื้อ เปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น ทองคำ ภาวะน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวนและปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องสู่ระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ฉุดให้ราคายางธรรมชาติปรับตัวลดลงตามในฐานะสินค้าทดแทน สต็อกยางธรรมชาติ ณ ตลาดเซี่ยงไฮ้ วันที่ 8 มกราคม มีปริมาณ 256,337 ตัน เพิ่มขึ้น 2.82 เปอร์เซ็นต์ จากวันที่ 1 มกราคม แรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ หลังจากมีรายงานว่า เงินเฟ้อปี 2558 ขยายตัวเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ 3.0 เปอร์เซ็นต์ และยอดส่งออกของจีนปี 2558 ลดลง 1.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การนำเข้าลดลง 13.2 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกช่วยพยุงราคายางไม่ให้ต่ำลงกว่าเดิม ได้แก่ การขานรับข่าวธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการแก้ไขปัญหาราคายางของรัฐบาล โดยรัฐบาลเข้ารับซื้อยาง ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 และปริมาณผลผลิตที่เริ่มลดลง จากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่
ในเดือนธันวาคม 2558 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 333,484.34 ตัน ลดลง 14.75 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 14,047.54 ล้านบาท ลดลง 25.51 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนธันวาคม ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 4,091,685.50 ตัน ลดลง 3.05 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 193,938.32 ล้านบาท ลดลง 20.76 เปอร์เซ็นต์
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนธันวาคม 2558 ไทยผลิตยางล้อรวมทั้งสิ้น 9.00 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 5.88 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9.78 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.89 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนธันวาคม ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 106.26 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 116.45 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.37 เปอร์เซ็นต์ yoy
|