รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมีนาคม 2565
เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ช้า จากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย–ยูเครน ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น และราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นกอรปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งสายพันธุ์ Omicron ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีอัตราผู้ติดเชื้ออยู่ที่หลักหมื่นคนต่อวัน อีกทั้งไทยยังมีสัญญาณเงินเฟ้อเข้ามา และอาจมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับภาวะ Stagflation เช่นกัน แม้ระดับเงินเฟ้อไทยจะยังไม่สูงนักหากเทียบกับประเทศอื่น แต่ที่น่าห่วงคือ ระดับค่าครองชีพเฉลี่ย โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ของไทยได้พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี ที่ 5.28% แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ออกมาตรการต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง มาตรการช่วยเหลือด้านพลังงาน การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล เป็นต้น ราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และปริมาณการส่งออกของไทยที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี อีกทั้ง ยังเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน(FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปรับตัวลดลงจาก 88.0 เป็น 86.7 เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาครัฐยกระดับการเตือนภัย COVID-19 จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ปัญหา Supply disruption และในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน ตามราคาตลาดโลก รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังมีค่าระวางในอัตราที่สูง จากปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จึงอยากให้ภาครัฐดูแลอัตราเงินเฟ้อ ออกมาตรการดูแลราคาพลังงานและเชื้อเพลิง เร่งแก้ไข ปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชน ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ 44.6 มาอยู่ที่ระดับ 43.8 สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ส่งออกมูลค่า 770,818.83 ล้านบาท (23,483.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 28.24 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาร้อยละ 8.82 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 776,611.99 ล้านบาท (23,359.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 28.70 แต่ลดลงจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาร้อยละ 3.25 ดุลการค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 5,793.16 ล้านบาท (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 58.8 จากระดับ 57.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีจากเดือนก่อน เนื่องจากด้านอุปสงค์ที่ดีขึ้นที่เอื้อต่อการเติบโตโดยรวม ในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวลดลงเป็น 51.8 จากระดับ 52.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron
พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 25 มี.ค. 2565 ปรับตัวลดลงกว่า 3.0 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากตลาดกังวลอุปทานน้ำมันจะตึงตัวมากขึ้น หลังกลุ่มกบฎฮูติ โจมตีคลังเก็บน้ำมันของบริษัท Saudi Aramco ในเมือง Jeddah สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 113.90 และ 120.65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนมีนาคม 2565 ราคายางเฉลี่ยภาพรวมมีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเข้าสู่ฤดูปิดกรีดยาง ภาพอากาศแปรปรวน กอรปกับสถานการณ์โรคใบร่วงในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก จึงส่งผลให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลง ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาด COVID-19 ความกังวลจากสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน นั้น คาดเป็นปัจจัยกดดันในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และส่งผลเชิงลบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยต่อไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 424,050 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 2.32 หมื่นล้านบาท สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12.8 ล้านเส้น สร้างมูลค่าการส่งออก 1.94 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 155,660 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 82,300คัน (52.87% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 73,360 คัน (47.13% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 74,489 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. 2565 ที่ 7.25% เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีก่อน 26.3%
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|