E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  กันยายน 2566 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกันยายน 2566

กลุ่มประเทศหลักมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) คาดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอลงจาก 2.1% ในปี 2566 เหลือ 1.5% ในปี 2567 เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มอ่อนแอลงสะท้อนผ่านตัวเลขการจ้างงาน การเติบโตของสินเชื่อธนาคาร ยอดขายบ้านมือสองและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจาก 108.7 ในเดือนสิงหาคม 2566 เหลือ 103.0 ในเดือนกันยายน 2566 ส่วนเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นแต่ยังเผชิญความเสี่ยงในหลายภาคส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงแต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ต่อไป และในวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกันยายน 2566 ปรับตัวลดลงจาก 91.3 เป็น 90.0 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ภาคการผลิตชะลอตัว อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลง การอ่อนค่าของเงินบาท ปัญหาความความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และมีความกังวลแนวโน้มราคาพลังงานที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการในฤดูหนาว ในขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวยังคงมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรติดตามสถานการณ์ และออกมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป อีกทั้งเสนอให้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมศุลกากร เข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกันยายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 จากระดับ 53.4 ในเดือนก่อนหน้า

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนสิงหาคม 2566 ส่งออกมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (824,938 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 23,919.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (822,476 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 12.8 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 359.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,462 ล้านบาท) ทั้งนี้ การส่งออกไทย8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 187,593.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.5 (อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี2566 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนกันยายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 47.9 ในเดือนสิงหาคม 2566 มาอยู่ที่ระดับ 49.8 ในเดือนกันยายน 2566 ส่วนดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยปรับตัวลดลงจาก 48.9 ในเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ระดับ 47.8 ในเดือนกันยายน 2566 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยเดือนกันยายน 2566 มีการปรับตัวในระดับลดลง ผลจากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ลดลงในระดับที่สูงขึ้น ความกดดันด้านต้นทุนลดลงสำหรับผู้ผลิตในประเทศไทย

พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ย. 2566 ปรับตัวลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 416.3 ล้านบาร์เรล ทำให้ตลาดเกิดความกังวลด้านอุปทานน้ำมันมากขึ้น ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว จากการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางอื่นๆ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน อีกทั้งจับตาการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 4 ต.ค. ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 90.79 และ 95.31 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนกันยายน 2566 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคายางภาพรวมปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนที่ผ่านมาตามตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญญาณที่ฟื้นตัว ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติเดือนสิงหาคม 2566 ปริมาณ 330,486 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.52 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 12.2 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.17 หมื่นล้านบาท

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 150,657 คัน ลดลง 12.27% (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือนกรกฎาคม 2566 เนื่องด้วยผลิตรถกระบะเพื่อขายในประเทศที่ลดลง โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเดือนสิงหาคม 2566 จำนวน 88,661 คัน (58.85% ของยอดผลิตทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 1.07% (YoY) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนสิงหาคม 2566 จำนวน 61,996 คัน (41.15% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนสิงหาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 60,234 คัน ลดลงร้อยละ 3.62 จากเดือนก่อนหน้า และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 11.69 เพราะความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ


หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com