E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  มกราคม 2565 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมกราคม 2565

เศรษฐกิจโลกอาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2564 ซึ่งมีตัวเลขคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจโลก (จีดีพี) จากเดิมที่จะขยายตัว 4.3% มาอยู่ที่ 4.1% หลายประเทศทั่วโลกยังคงเผชิญกับการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ จากรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตน้อยลง แต่การระบาดของเชื้อยังมีการแพร่อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในมีนาคม 2565 และยืนยันแผนการที่จะยกเลิกการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนนั้นด้วย เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งสนับสนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งตัวขึ้น ส่วนเงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ แต่ยังกระจุกตัวในบางกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท แต่ยังคงต้องติดตามราคาพลังงานโลก และการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการในประเทศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีความท้าทายค่อนข้างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่พัฒนาและเกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีพของมนุษย์ ดังนั้นในทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชน ควรตระหนักและให้ความสำคัญในด้านความยั่งยืน ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ควรติดตามว่า กนง. จะมีท่าทีต่อแนวโน้มเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 4 ครั้ง ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2565 ในวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปีเช่นเดิม

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 85.4 เป็น 86.1 เนื่องด้วยมีการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นทั้งภาคการผลิต การค้า การเดินทางภายในประเทศ การกระตุ้นและส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาล ค่าเงินบาทที่อ่อนตัว แต่ในขณะเดียวกัน ยังคงมีความไม่แน่นอนในการพบผู้ติดเชื้อของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้กระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง รวมทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังมีค่าระวางในอัตราที่สูง จากปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จึงอยากให้ภาครัฐเร่งแก้ไข ออกมาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น การเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 (Booster) ให้แก่ประชาชนโดยเร็ว การยกระดับและการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขให้มีความสอดคล้องและควบคู่ไปกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ  สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนธันวาคม 2564 ส่งออกมูลค่า 810,711.85 ล้านบาท (24,930.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 ร้อยละ 34.54 และเพิ่มขึ้นจากพฤศจิกายนที่ผ่านมาร้อยละ 3.48 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 833,237.42 ล้านบาท (25,284.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 ร้อยละ 44.36 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาร้อยละ 9.68 ดุลการค้าเดือนธันวาคม 2564 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 22,525.57 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 354.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วงมกราคม – ธันวาคม ปี 2564 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 6,979.61 ล้านบาท (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ Index (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนมกราคม 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 55.5 (-0.36%) จากระดับ 55.7 ในเดือนธันวาคม 2564 การปรับตัวลดลงของดัชนีจากเดือนก่อน เนื่องจากภาคบริการของสหรัฐฯกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนแรงงานหลังตลาดแรงงานของสหรัฐฯมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้น ในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนมกราคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 51.7 (+4.44%) จากระดับ 49.5 ในเดือนธันวาคม 2564 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการขยายตัว เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศไทยมีความมั่นใจที่จะเพิ่มการซื้อวัตถุดิบ โดยการซื้อวัตถุดิบนั้นเพื่อป้องกันภาวะขาดแคลน ดังนั้น ระดับสต็อกวัตถุดิบจึงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความกดดันด้านราคา เนื่องด้วยราคาวัตถุดิบและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งความกังวลการแพร่ระบาดของ Omicron  ทั้งนี้ IHS Markit ได้คาดการณ์ว่า GDP ปี 2565 ของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 3.4%

พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 28 ม.ค. 2565 ปรับตัวลดลง 1 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 415.1 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 88.15 และ 91.21 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนมกราคม 2565 ราคายางภาพรวมและราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศมีความผันผวนและปรับตัวในกรอบแคบ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการระบาดของโรคใบร่วง ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งปัญหาระวางเรือเต็ม ต้องวางแผนการจองล่วงหน้า การเปิดประตูขนส่งเส้นทางใหม่รถไฟจีน-ลาว เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประกอบการ/ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้า เนื่องด้วยยังคงมีหลายปัจจัยที่ต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น การเปรียบเทียบอัตราค่าขนส่ง ความพร้อมในการบริการและพิธีทางศุลกากร รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น ในส่วนการระบาดของโรคใบร่วงนั้น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เร่งดำเนินการเข้าตรวจสอบและควบคุมอย่างเร่งด่วน รวมถึงฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดและป้องกันการแพร่กระจายแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการบริหารยางพาราของ กยท.นั้นไม่ได้ดูแลแค่ชาวสวนยางอย่างเดียว แต่ยังต้องดูแลในส่วนของอุตสาหกรรมกลางน้ำ-ปลายน้ำที่เกี่ยวเนื่องไม่ให้ขาด แคลนวัตถุดิบในการแปรรูปด้วย หากยางธรรมชาติขาดแคลนอาจกระทบเกษตรกรได้ ดังนั้นการบริหารยางทั้งระบบต้องทำให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้กับผลผลิต ทั้งนี้จากแนวโน้มผลผลิตยางพาราไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของโลก และทิศทางราคาดี ซึ่งทาง กยท. จะมีมาตรการเข้าไปสนับสนุนในเรื่องต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนนวัตกรรมทำให้มีน้ำยางเพิ่มขึ้น

ในเดือนธันวาคม 2564  ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 443,625.11 ตัน เพิ่มขึ้น 9.84 เปอร์เซ็นต์จากเดือนก่อน เพิ่มขึ้น 9.84 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 2.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.19 เปอร์เซ็นต์จากเดือนก่อน 2564 เพิ่มขึ้น 11.19 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนธันวาคม 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 13.15 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 17.68 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.71 เปอร์เซ็นต์ yoy

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนธันวาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 154,368 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2564 ร้อยละ 6.64 แต่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 7.89 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 77,592 คัน (50.26% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 76,776คัน (49.74% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนธันวาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 86,145 คัน สูงสุดในรอบ 12 เดือน และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,685,705 คันเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – ธันวาคม 2563 ร้อยละ 18.12  กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประมาณการการผลิตรถยนต์ในปี 2565 ไว้ประมาณ 1,800,000 คัน ซึ่งมากกว่าปี 2564 (เพิ่มขึ้น 114,295 คัน คิดเป็นร้อยละ 6.78)



หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com