E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  พฤศจิกายน 2564 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564

เศรษฐกิจโลก: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ที่ก่อนหน้านี้ได้คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2021 ที่คาดว่าจะมีการท่องเที่ยวและการจัดงานต่างๆ มากขึ้น แต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการอุบัติขึ้นของไวรัสโควิดที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ‘Omicron (โอไมครอน)’ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อของโลก เนื่องจากการตรวจพบเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน การเร่งตัวของเงินเฟ้อ และการขาดแคลนแรงงานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้ง อาจส่งผลทำให้หนี้สาธารณะทั่วโลกเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในหลายประเทศเผชิญกับการชะลอตัวในระยะยาว อย่างไรยังคงต้องติดตามแผนนโยบายกลุ่มประเทศการค้าที่สำคัญต่อไป ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตโลกในปี 64 นี้ อาจจะมีการปรับลงเล็กน้อยจากเดิมที่ 5.9 %

เศรษฐกิจไทยปี 2564 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 64 ขยายตัวได้ 1.2% บัญชีดุลสะพัดติดลบ 2.5% ส่วนภาคท่องเที่ยวยังไม่พื้นตัว แต่ส่งออกภาพรวมยังดีอยู่ คาดขยายได้ถึง 16.8% สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 65 คาดการณ์ว่า ขยายตัวอยู่ที่ 3.5-4.5% ส่วนเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 4.6-4.8% อย่างไรก็ตาม การส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า และการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวในประเทศได้ฟื้นตัวในระดับหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่ได้พบเชื้อในต่างประเทศแล้ว ส่วนความรุนแรงของเชื้อจะมากน้อยเพียงใดนั้น ยังคงต้องติดตาม หากมีผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น คงไม่ใช่ปีนี้ถ้ามีผลกระทบจริงๆ คงจะเป็นปีหน้า โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงติดตามผลกระทบในระยะยาวต่อไป

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 79.0 เป็น 82.1 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ผู้ได้รับวัคซีนมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น ในขณะเดียวกันราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้กระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จากปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จึงอยากให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาน้ำ เร่งออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แก้ไขปัญหาราคาพลังงาน เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเฉพาะจังหวัดที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายในการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้น สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนตุลาคม 2564 ส่งออกมูลค่า 750,015.83 ล้านบาท (22,738.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2563 ร้อยละ 24.93 แต่ลดลงจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาร้อยละ 1.39 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 772,539.96 ล้านบาท (23,108.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2563 ร้อยละ 43.33 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่ผ่านมาร้อยละ 2.97 ดุลการค้าเดือนตุลาคม 2564 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 22,524.13 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 370.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ Index (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.3 (-0.17%) จากระดับ 58.4 ในเดือนตุลาคม 2564 การปรับตัวของดัชนีเพียงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากบริษัทพยายามขยายขีดความสามารถท่ามกลางงานในที่เพิ่มขึ้น อัตราการสร้างงานชะลอตัวเพียงเล็กน้อย เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ราคาพลังงานงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ส่วนดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวลดลงเป็น 50.6 (-0.59%) จากระดับ 50.9 ในเดือนตุลาคม 2564 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการระบาดของ COVID-19 แต่ยังมีความกดดันด้านราคา เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งยังคงต้องจับตาดูในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะแรกๆ ว่าจะส่งสัญญาณในการเติบโตของการผลิตข้างหน้าต่อไปอย่างไร

พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ย. 2564 ปรับตัวลดลง 0.9 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 433.1 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากเดือนก่อน หลังตลาดกังวลการแพร่ระบาดของ COVID-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า Omicron จะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน ล่าสุดสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ และสหภาพยุโรป สั่งห้ามเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้เข้าประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 68.15 และ 72.72 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ราคายางภาพรวมและราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผู้ซื้อภายในประเทศมีความต้องการยางในการส่งมอบ และมาตรการรักษาเสถียรภาพจากหน่วยงานภาครัฐ และทางตอนใต้ของประเทศไทยยังมีฝนตกต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด - 19 การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งยาง รวมทั้งราคาพลังงานมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งเพิ่มสูงตาม ล่าสุดในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยพบการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เร่งดำเนินการเข้าตรวจสอบและควบคุมอย่างเร่งด่วน รวมถึงฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดและป้องกันการแพร่กระจายแล้ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพารามากกว่าเดิม และล่าสุดทางคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งนายกุลเดช พัวพัฒนกุล เป็นประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทยคนใหม่ขับเคลื่อน กยท. พร้อมผ่านความเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 3 เทงบกว่า 10,000 ล้านบาท ให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศกว่า 1.8 ล้านราย เตรียมจ่ายเงินชดเชยรายได้ 2 งวดแรกให้ชาวสวนยางภายในเดือนธันวาคมนี้ และในขณะเดียวกัน กยท. ยังได้ดำเนินโครงการและมาตรการคู่ขนานเพื่อแก้ปัญหาราคายาง เช่น โครงการชะลอการขายยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและสถาบันเกษตรกร เป็นต้น

ในเดือนตุลาคม 2564  ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 421,221.37 ตัน เพิ่มขึ้น 9.38 เปอร์เซ็นต์จากเดือนก่อน เพิ่มขึ้น 17.37 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 2.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.66 เปอร์เซ็นต์จากเดือนก่อน 2564 เพิ่มขึ้น 46.76 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนตุลาคม 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 13.06 ล้านเส้น ลดลง 0.68 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.61 เปอร์เซ็นต์ yoy

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนตุลาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 154,038 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.27% และเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2564 ร้อยละ 10 เพราะได้รับชิปและชิ้นส่วนของรถยนต์จากประเทศคู่ค้าที่ผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 81,577 คัน (57.87% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 64,894 คัน (42.13% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนตุลาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,462 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 13 และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,365,984 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 ร้อยละ 22.89


หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com