E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  กุมภาพันธ์ 2565 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565

เศรษฐกิจโลก: เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นกว่าการระบาดระลอกที่ผ่านมา แม้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งยังต้องติดตามการระบาดในระยะต่อไป ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจส่งผลต่อภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ภาคการผลิตยังเผชิญปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานโลก (global supply disruption) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นราว 20% ราคาที่เพิ่มขึ้นมากเช่นนี้ส่งผลให้น้ำมันแพงขึ้นทั่วโลก เพิ่มต้นทุนการเดินทางและการขนส่งสินค้า อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งราคาอาหารและเชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูงมาตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียจะโจมตียูเครนแล้ว ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ราคาสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีปรับตัวสูงขึ้น หากสถานการณ์ตึงเครียดยังคงยืดเยื้อหรือรุนแรงขึ้น เราอาจเห็นการปรับตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจลดลงอีกในปีนี้ อีกทั้ง มาตรการทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ยุโรป และประเทศต่างๆ บังคับใช้กับรัสเซียจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงิน โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนมกราคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 86.8 เป็น 88.0 เนื่องด้วยมีการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นทั้งภาคการผลิต การค้า การเดินทางภายในประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานและค่าขนส่ง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังมีค่าระวางในอัตราที่สูง จากปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จึงอยากให้ภาครัฐดูแลอัตราเงินเฟ้อ เร่งแก้ไข ปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชน ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 44.6 

สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมกราคม 2565 ส่งออกมูลค่า 708,312.30 ล้านบาท (21,258.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ร้อยละ 20.70 แต่ลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 12.63 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 802,688.84 ล้านบาท (23,784.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ร้อยละ 34.54  แต่ลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.67 ดุลการค้าเดือนมกราคม 2565 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 94,376.54 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 2,526.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ Index (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.3 (+3.24%) จากระดับ 55.5 ในเดือนมกราคม 2565 การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีจากเดือนก่อน เนื่องจากแรงกดดันด้านกำลังการผลิตลดลงและมีคำสั่งซื้อใหม่ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตโดยรวม แต่ราคาขายก็ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 52.5 (+1.55%) จากระดับ 51.7 ในเดือนมกราคม 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการขยายตัว เนื่องจากผู้ผลิตในประเทศไทยมีความหวังและเชื่อมั่นที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตในประเทศไทยเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบ ค่าระวางและค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งความกังวลการแพร่ระบาดของ Omicron  

พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 25 ก.พ. 2565 ปรับตัวลดลง 6.1 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 409.9 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 95.72 และ 10.99 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ราคายางภาพรวมและราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางลดลงในไตรมาสนี้ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีด (พื้นที่สวนยางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ซึ่งจะเริ่มปิดกรีดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์) ประกอบกับสถานการณ์โรคใบร่วงในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก จึงส่งผลให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ตาม ราคายางได้รับปัจจัยกดดันจากการที่ราคายางในตลาดล่วงหน้ามีความผันผวนจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งยางยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้คาดการณ์การส่งออกยางพาราในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนราว 2%

ในเดือนมกราคม 2565 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 426,749.04 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 2.38 หมื่นล้านบาท สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมกราคม 2565  ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12.95 ล้านเส้น สร้างมูลค่าการส่งออก 1.85 หมื่นล้านบาท 

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 151,747 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ร้อยละ 2.45 แต่ลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ร้อยละ 1.70 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 77,039 คัน (50.77% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมกราคม 2565 จำนวน 74,708คัน (49.23% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมกราคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 69,455 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 ร้อยละ 19.37 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 25.8



หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com