รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมกราคม 2564
ในเดือนมกราคม 2564 ราคายางโดยภาพรวมมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ทั้งในและต่างประเทศ การ Lockdown ของประเทศต่างๆ ส่งผลให้ภาคการส่งออกที่ค่อนข้างจะตึงตัว และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ขนส่งยาง ทำให้ Productivity ลดลง และค่าระวางเรือ (Freight Charge) ปรับตัวสูงขึ้นโดยค่าระวางเรือไป Qingdao อาจจะเพิ่มขึ้น 100 - 250 ดอลลาร์สหรัฐและจะเพิ่มไปเรื่อยๆ หากไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน รวมถึงประเทศญี่ปุ่นได้เผยยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้เกิดการประกาศภาวะฉุกเฉินใน 11 จังหวัด และประเทศจีนมีการประกาศเพิ่มความเข้มงวดของการเดินทางในประเทศช่วงเทศกาลตรุษจีนต้นเดือน ก.พ. ส่วนผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดได้มากขึ้น เนื่องด้วยปริมาณฝนลดลง ในขณะเดียวกันยังคงประสบปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา แรงงานกรีดและผลิตขาดแคลน ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลาเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ 59.18 บาท/กิโลกรัม ลดลงจาก 63.80 บาท/กิโลกรัมในเดือนธันวาคม 2563
แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่า จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับต่ำใกล้ร้อยละ 0 เช่นเดิม จนกว่าเศรษฐกิจจะมีการพื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ส่วนกระทรวงการคลังไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2564 จะลดลง ส่วนภาครัฐได้มีการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2564 จะกำหนดจัดในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ผลการประชุมจะยังให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี และคาดการณ์จะกลับมาขยายตัวที่ 3.2 เช่นเดิมหรือไม่อย่างไรยังคงต้องติดตามต่อไป พร้อมติดตามความความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนธันวาคม 2563 ปรับลดลงจาก 87.4 เป็น 85.8 เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 มีความรุนแรงและขยายวงกว้าง การควบคุมพื้นที่ที่มีการระบาดสูง กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอลง การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดมีความล่าช้า รวมถึงผู้ส่งออกมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แต่ในส่วนที่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ยังคงขยายตัว
เดือนธันวาคม 2563 ส่งออกมูลค่า 602,803.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 4.99 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาร้อยละ 2.88 เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่า 20,082.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 4.71 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ร้อยละ 6.07 ในช่วงมกราคม – ธันวาคม ปี 2563 ส่งออกมูลค่า 7,178,494.05 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 5.90 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งออกมูลค่า 231,468.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.01 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 676,087.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เกินดุลการค้ามูลค่า 202,751.41 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 24,476.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เกินดุลการค้ามูลค่า 10,008.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ...(อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนมกราคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.2 (+3.67%) จากระดับ 57.1 ในเดือนธันวาคม 2563 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยลดลงมาอยู่ที่ 49.0 (-3.54%) ในเดือนมกราคม 2564 จาก 50.8 ในเดือนธันวาคม 2563 เนื่องด้วยความต้องการสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยลดลง ลูกค้าน้อยลงและมีการเลื่อนการสั่งซื้อออกไป อีกทั้งความกดดันด้านเงินเฟ้อในเดือนมกราคมยังคงอยู่ในระดับต่ำ ราคาวัตถุดิบของภาคการผลิตเพิ่มขึ้น
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค. 64 ปรับตัวลดลง 9.9 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 476.7 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.43 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์มีการปรับตัวลดลง จากความกังวลความต้องการใช้น้ำมันดิบหดตัวเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ หลังข่าวความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 โดยแอสตร้าเซนเนก้าแถลงว่า วัคซีนโควิด-19 มีปัญหาด้านการผลิต โดยคาดว่าจะมีการลดปริมาณการส่งมอบวัคซีนลง 60% และเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 52.34 และ 55.53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ในเดือนธันวาคม 2563 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 386,320.07 ตัน เพิ่มขึ้น 5.03 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤศจิกายน 2563 ลดลง 10.53 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.34 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤศจิกายน 2563 เพิ่มขึ้น 5.65 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนธันวาคม 2563 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 11.18 ล้านเส้น ลดลง 1.34 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.31 หมื่นล้านบาท ลดลง 3.27 เปอร์เซ็นต์ yoy จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – ธันวาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,426,970 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม – ธันวาคม 2562 ร้อยละ 29.14 แต่มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1,400,000 คัน ร้อยละ 1.90 รถยนต์นั่ง เดือนธันวาคม 2563 ผลิตได้ 54,137 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 4.15 ผลิตเพื่อส่งออก - เดือนธันวาคม 2563 ผลิตได้ 54,733 คัน เท่ากับร้อยละ 38.28 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 17.84 ส่วนเดือนมกราคม – ธันวาคม 2563 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 704,626 คัน เท่ากับร้อยละ 49.38 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2562 ระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 32.06 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ - เดือนธันวาคม 2563 ผลิตได้ 88,236 คัน เท่ากับร้อยละ 61.72 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 ร้อยละ 30.55 และเดือนมกราคม – ธันวาคม 2563 ผลิตได้ 722,344 คัน เท่ากับร้อยละ 50.62 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม – ธันวาคม 2562 ร้อยละ 26.03
ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 104,089 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 11.3 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2563 ร้อยละ 31.46 เป็นอีกเดือนหนึ่งที่ยอดขายในประเทศเกินหนึ่งแสนคันหลังจากหมดโครงการรถยนต์คันแรก สะท้อนถึงเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของรัฐบาลเช่นการประกันรายได้เกษตรกร ช็อปดีมีคืน คนละครึ่ง ฯลฯ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล รวมทั้งการออกรถยนต์รุ่นใหม่และการส่งเสริมการขายของผู้จำหน่ายรถยนต์ในงานมหกรรมยานยนต์วันที่ 1-13 ธันวาคมที่ผ่านมาซึ่งมียอดจองกว่า 33,000 คัน (ส.อ.ท.)
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|