รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนเมษายน 2564
เศรษฐกิจ: เศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวดีขึ้นจากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนในกลุ่มประเทศแกนหลัก แต่การฟื้นตัวยังมีความแตกต่างกันและอาจต้องเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีสัญญาณฟื้นตัวในระยะต่อไปจากปัจจัยหนุนต่างๆ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และช่วยเหลือในภาคครัวเรือน เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่ง GDP จีนไตรมาส 1/2564 เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาดเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อไป ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดรอบที่ 3 ของ COVID-19 และภัยแล้ง ขณะที่การส่งออกและมาตรการกระตุ้นช่วยบรรเทาผลกระทบ อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะยังคงอัตราเดิมที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เนื่องด้วยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 3/2564 ซึ่งกำหนดประชุมในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นี้
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนมีนาคม 2564 ปรับตัวจาก 85.1 เป็น 87.3 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคการผลิต การผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ของภาครัฐ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคของประเทศ แต่ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม อีกทั้งการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลในด้านการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมีนาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 719,050.84 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.05 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 708,095.57 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.52 ดุลการค้าเกินดุล10,955.27 ล้านบาท ภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 1,907,932.14 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 0.17 การนำเข้า มีมูลค่า 1,920,028.82 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 7.17 ขาดดุล 12,096.68 ล้านบาท (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนเมษายน 2564 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60.5 (+2.37%) จากระดับ 59.1 ในเดือนมีนาคม 2564 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 48.8 ในเดือนมีนาคม 2564 มาอยู่ที่ 50.7 (+3.89%) ในเดือนเมษายน 2564 เนื่องด้วยคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และผลผลิตเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบด้านสต็อกวัตถุดิบที่ซื้อและเวลาส่งมอบของผู้ผลิตวัตถุดิบต่างก็ส่งผลให้เกิดทิศทางในเชิงบวกต่อค่าดัชนีทั่วไป แต่การจ้างงานในภาคการผลิตในประเทศไทยกลับลดลงเพิ่มเติมในเดือนเมษายน
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 0.09 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 493.1 ล้านบาร์เรล หลายประเทศเริ่มมีการเริ่มประกาศนโยบายการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (Travel Bubble) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว สิงคโปร์และฮ่องกงประกาศนโยบายท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศโดยไม่ต้องกักตัวโดยจะเริ่มวันที่ 26 พ.ค. หลังจากนโยบายนี้ถูกเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้ว กลุ่มโอเปกพลัสเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความคืบหน้าของการรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ระหว่างสหรัฐฯ และ อิหร่าน และเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 63.86 และ 67.27 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนเมษายน 2564 ปริมาณยางโดยภาพรวมมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลที่ปิดกรีด ด้านราคาภาพรวมปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ ปัจจัยกดดันยังมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ประกอบกับปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน รวมถึงค่าระวางเรือสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง และในขณะนี้ หลายกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิปทั่วโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเรียกเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ และส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามทางการยางแห่งประเทศไทยได้นำมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางมาใช้ โดยมีการระบายสต็อกในโครงการของรัฐ จำนวน 1.04 แสนตัน ก่อนที่ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาด
ในเดือนมีนาคม 2564 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 483,526.74 ตัน เพิ่มขึ้น 16.34 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพิ่มขึ้น 29.89 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 2.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.8 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพิ่มขึ้น 49.21 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมีนาคม 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 14.21 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 33.54 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.76 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.25 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เดินหน้าบริหารจัดการสต็อกยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรฯ และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ประมูลยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR 20 และยางอื่นๆ จำนวน 104,763.35 ตัน ของโครงการฯ (สำหรับยางล็อตนี้เป็นยางเก่าที่มีอายุ 9 ปี และเสื่อมสภาพ) โดยมีหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้ว่า ผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูลได้ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มยอดสั่งซื้ออีกกว่า 1 แสนตันภายใน 1 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา ในส่วนของสต็อกยางที่ระบายในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ จะเริ่มการขนยางในสต็อกตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 และจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2564
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมีนาคม 2564 มีทั้งสิ้น 162,515 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2563 ร้อยละ 10.70 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ร้อยละ 4.71% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 96,583 คัน (59.43% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 65,932 คัน เท่ากับร้อยละ 40.57 ของยอดการผลิตทั้งหมด ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมีนาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 74,295 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 26.01 และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - มีนาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 465,833 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - มีนาคม 2563 ร้อยละ 2.68
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|