รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่กิโลกรัมละ 43.75 เพิ่มขึ้น (+1.89%) จาก 42.94 บาท/กิโลกรัมในเดือนมกราคม 2563
ในเดือนกุมภาพันธ์ราคายางยังคงทรงตัวและมีการปรับตัวในกรอบแคบในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ สถานการณ์ยางพารายังคงชะลอตัวในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศแห้งแล้ง การเข้าสู่ช่วงฤดูการปิดกรีด ตลอดจนปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ในวงกว้างขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากเชื้อราที่ฟุ้งกระจายในอากาศ ส่งผลให้ยางพาราใบร่วง น้ำยางลดลง และยืนต้นแห้งตาย ทางการยางแห่งประเทศไทยได้แนะนำให้เกษตรกรชาวสวนยางหมั่นสังเกตอาการแสดงของโรค คือใบยางพาราจะมีแผลจุดบนใบและใบร่วง ซึ่งใบยางที่ร่วงจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อ ห้ามเกษตรกรเคลื่อนย้าย ต้นพันธุ์ กิ่งตา รวมถึงก้านใบจากแหล่งที่เกิดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไปสู่แหล่งอื่น หากเกษตรกรมีข้อสงสัยหรือพบความผิดปกติของต้นยางพาราสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กยท. ใกล้บ้าน นอกจากนี้ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างรวดเร็วและรุนแรง จึงส่งผลกระทบต่อสถานการณ์โลกค่อนข้างมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย จากวิกฤตโรคระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางและหน้ากากอนามัยจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงมาก และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นทั้งครัวเรือนในภาคบริการ เกษตร และอุตสาหกรรม รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2563 และผลมติประชุมให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
สำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.1 (-1.57%) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จากระดับ 50.9 ในเดือนมกราคม 2563 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยลดลงจาก 49.9 ในเดือนมกราคม 2563 มาอยู่ที่ 49.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในส่วนราคาน้ำมันดิบนั้นได้รับแรงกดดันหลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 นอกประเทศจีนปรับเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น อิหร่าน เกาหลีใต้ และอิตาลี รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาหรับ เช่น คูเวต บาห์เรน โอมาน และอิรัก ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่อ่อนตัวลง นอกจากนี้ตลาดยังคงจับตามองผลจากการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรซึ่งจะมีขึ้น ณ เวียนนา ระหว่างวันที่ 5-6 มี.ค. 63 โดยหวังว่ากลุ่มผู้ผลิตจะมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 600,000 บาร์เรล จากระดับปัจจุบันที่ที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 21 ก.พ. 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าเพียง 0.45 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นที่ 2.0 ล้านบาร์เรล
ในเดือนมกราคม 2563 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 436,603.46 ตัน เพิ่มขึ้น 1.11 เปอร์เซ็นต์จากเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้น 4.19 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.75 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.96 เปอร์เซ็นต์จากเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้น 3.98 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมกราคม 2563 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 10.68 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 2.74 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.28 เปอร์เซ็นต์ yoy
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|