รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนธันวาคม 2563
ในเดือนธันวาคม 2563 ราคายางโดยภาพรวมค่อนข้างผันผวนและปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ เนื่องด้วยเงินบาทแข็งค่า ความกังวลการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย สาเหตุจากประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติต่างได้ผลกระทบจากพายุ และปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศรัสเซียได้ออกมาตรการสนับสนุนยางสังเคราะห์เพื่อผลิตยางล้อ แรงงานกรีดและผลิตขาดแคลน อีกทั้งยังพบโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา "Colletotrichum sp." ซึ่งพบการระบาดใน 7 จังหวัดได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พังงา พัทลุง และสุราษฎร์ธานี อีกทั้ง ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลาเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 63.80 บาท/กิโลกรัม ลดลงจาก 64.69 บาท/กิโลกรัมในเดือนพฤศจิกายน 2563
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันพุธที่ 23 ธันวาคม 2563 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยมีผลทันที ซึ่งได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2563 ดีกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวดีขึ้น และกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 4.8 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ยังคงน่าเป็นห่วง คาดว่าในปี 2564 สถานการณ์น่าจะดีขึ้น เพราะมีความคืบหน้าในเรื่องของวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 แล้ว แต่กว่าจะสามารถใช้งานได้จริงในวงกว้างนั้น ยังต้องมีการติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับการส่งออกของประเทศเช่นกัน และล่าสุดกระทรวงการคลังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 อาจมีแนวโน้มหดตัวถึงร้อยละ 7.8
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนพฤศจิกายน 2563 เพิ่มขึ้นจาก 86.0 เป็น 87.4 เนื่องจากภาคการผลิตฟื้นตัวตามอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังประสบปัญหาการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระค่าอัตราระวางเรือเพิ่มขึ้น การแข็งค่าเงินบาท และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ทั้งในและต่างประเทศ
เดือนพฤศจิกายน 2563 ส่งออกมูลค่า 585,911.03 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2562 ร้อยละ 0.65 และลดลงจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมาร้อยละ 2.40 เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่า 18,932.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2562 ร้อยละ 3.65 และลดลงจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 2.29 ในช่วงมกราคม – พฤศจิกายน ปี 2563 ส่งออกมูลค่า 6,575,690.45 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 6.78 และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งออกมูลค่า 211,385.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.92 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 655,383.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เกินดุลการค้ามูลค่า 189,118.62 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 23,512.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เกินดุลการค้ามูลค่า 9,281.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ...(อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 57.1 (+0.71%) จากระดับ 56.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 50.8 (+0.79%) ในเดือนธันวาคม 2563 จาก 50.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 เนื่องด้วยสภาวะธุรกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น มีการเติบโตเพิ่มเติมในด้านผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ สต็อกวัตถุดิบที่ซื้อ และเวลาส่งมอบของผู้ผลิตวัตถุดิบ
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ธ.ค. 63 ปรับตัวลดลง 562,000 บาร์เรล สู่ระดับ 499.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมาตรการการปิดเมืองรอบใหม่ ยังคงกดดันความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ที่สามารถแพร่กระจายและติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปและแอฟริกา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์มีการปรับตัวในช่วงแคบๆ โดยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 48.00 และ 51.09 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 367,830.03 ตัน เพิ่มขึ้น 2.5 เปอร์เซ็นต์จากเดือนตุลาคม 2563 ลดลง 11.61 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.16 เปอร์เซ็นต์จากเดือนตุลาคม 2563 เพิ่มขึ้น 5.13 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12.29 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 7.57 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.79 เปอร์เซ็นต์ yoy
จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 มีทั้งสิ้น 172,455 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2562 ร้อยละ 11.92 และเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2563 ร้อยละ15.46 เป็นเดือนแรกที่เพิ่มขึ้นในรอบ 19 เดือนจากสงครามการค้าเมื่อปีที่แล้วและการระบาดของ COVID 19 เนื่องจากประเทศคู่ค้าเริ่มคลายการล็อคดาวน์และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยผลิตเพิ่มขึ้นทั้งผลิตเพื่อส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.25 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.64 ขณะที่ จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,283,963 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2562 ร้อยละ 31.69 ส่วนที่ผลิตเพื่อส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2563 ผลิตได้ 75,014 คัน เท่ากับร้อยละ 43.50 ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนพฤศจิกายน 2563 ผลิตได้ 97,441 คัน เท่ากับร้อยละ 56.50 ของยอดการผลิตทั้งหมด
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|