รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยรวมแล้ว การเติบโตทั่วโลกคาดว่าจะลดลง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ซึ่งมีความคืบหน้ามากเพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่าสหรัฐจะไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ล่าสุด FED ได้ประเมินว่าความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเริ่มลดลงและอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า ส่วนเศรษฐกิจจีนนั้นมีสัญญาณการฟื้นในรูปแบบตัว K (K-Shaped Recovery) ซึ่งเป็นลักษณะของกลุ่มการฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว และอีกกลุ่มที่มีการฟื้นตัวช้าหรือยังคงอ่อนแอ และยังมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมของจีนและโลกในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกต่อไป
เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 เพิ่มขึ้น 0.53% แต่เป็นในอัตราชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลและทางการเมืองในประเทศอาจกระทบต่อบรรยากาศและความเชื่อมั่นของการลงทุน ขณะที่ตลาดแรงงานไทยปรับตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจยังมีความเปราะบางจากภาระหนี้สินครัวเรือน
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนพฤษภาคม 2566 ปรับตัวลดลงจาก 95.0 เป็น 92.5 เนื่องจากภาคการส่งออกชะลอตัว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทางภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อบรรเทาผลกระทบและเพิ่มเสริมสภาพคล่อง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนพฤษภาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.6 จากระดับ 53.5 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนเมษายน 2566 ส่งออกมูลค่า 737,788.26 ล้านบาท (21,723.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดลงจากเดือนเมษายน 2565 ร้อยละ 5.64 และลดลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 21.76 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 797,372.73 ล้านบาท (23,194.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดลงจากเดือนเมษายน 2565 ร้อยละ 5.37 และลดลงจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาร้อยละ 7.34 เดือนเมษายน 2566 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 59,584.47 บาท (ขาดดุล 1,471.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2566 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนพฤษภาคม 2566 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 48.4 จากระดับ 50.2 ในเดือนเมษายน 2566 ส่วนดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2566 ปรับตัวลดลงเหลือ 58.2 จากระดับ 60.4 ในเดือนเมษายน สภาวะของภาคการผลิตในประเทศ แม้การเติบโตจะชะลอตัวลง ความเชื่อมั่นของธุุรกิจลดลงจากความกังวลที่่ยังคงมีอยู่่เกี่่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ดัชนีภาคการผลิตยังคงอยู่เหนือระดับที่ 50
พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ค. 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบยังผันผวน เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 68.09 และ 72.66 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนพฤษภาคม 2566 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ราคายางภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนที่ผ่านมา ในเดือนเมษายน 2566 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ จำนวน 354,119 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 9.67 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.67 หมื่นล้านบาท
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. แถลงนโยบายและแนวการดำเนินงานด้านยางพาราของ กยท. ในงานประจำปีของสมาคมยางพาราไทย ซึ่งมี นายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมฯ เป็นประธานในงาน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน นักธุรกิจยางจากประเทศผู้ผลิตและผู้ใช้ยางทั่วโลก
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนเมษายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 117,636 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2565 ร้อยละ 0.13 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเดือนเมษายน 2566 จำนวน 67,907 คัน (57.73% ของยอดผลิตทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2565 ร้อยละ 10.04ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนเมษายน 2566 จำนวน 49,729 คัน (42.27% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเมษายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 59,530 คัน ยอดขายรถยนต์ลดลง เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|