E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  กันยายน 2567 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกันยายน 2567

เศรษฐกิจโลกปี 2567 กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งตลาดจับตาทิศทางเศรษฐกิจจีนภายหลังธนาคารกลางจีน (PBOC) การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยมีมาตรการที่สำคัญต่างๆ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะกลาง การปรับลดอัตราเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับอสังหาฯ มือสอง เป็นต้น ส่วนความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงมีความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น หลังอิหร่านตอบโต้อิสราเอลด้วยขีปนาวุธราว 200 ลูก เพื่อตอบโต้การที่อิสราเอลได้สังหารผู้นำสูงสุดของกลุ่มฮิซบอเลาะห์ รวมถึงสังหารผู้นำระดับสูงของกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ และในขณะเดียวกันนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด (FED) ได้ส่งสัญญาณที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ช้าลงที่ระดับ 0.25% ซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต(Manufacturing Purchasing Manager Index (PMI)) เดือนกันยายนลดลงอยู่ที่ 47.3 จาก 47.9 ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากเดิม 105.6 ในเดือนสิงหาคม 2567 เป็น 98.7 ในเดือนกันยายน 2567 จากสภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันปรับตัวลดลง

เศรษฐกิจไทย ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยชะลอตัว จากสถานการณ์อุทกภัย โดยเฉพาะภาคเหนือ ส่วนภาคกลางและภาคใต้ก็ควรเฝ้าระวัง อีกทั้ง การแข็งค่าเงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์อย่างรวดเร็วที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งออกอาจปรับตัวลดลง ในขณะเดียวกันคาดว่าภาคการท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้าสู่ช่วง High season อาจจะช่วยหนุนในการใช้จ่ายภาคบริการได้ เงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 0.77 (YoY) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม 2567 ที่ร้อยละ 0.62 (YoY) ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เดือนกันยายน 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.61 (YoY) อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความต่อเนื่องในการเติบโตท่ามกลางข้อจำกัด และปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกันยายน 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.6 จากระดับ 49.5 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2567 ส่งออกมูลค่า 25,983.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (889,074 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 25,589 ล้านเหรียญสหรัฐ (886,336 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 394.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกินดุล 2,738 ล้านบาท) (อ้างอิง: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูลเบื้องต้น ปี 2567) 

พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 27 กันยายน 2567 ปรับเพิ่มขึ้น 3.8 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 417 ล้านบาร์เรล จากการประชุมของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC+) มีมติคงนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเช่นเดิม โดยจะยังคงทยอยปรับเพิ่มกำลังผลิตขึ้นที่ระดับ 0.18 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ธ.ค.67 หลังสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ (The Conference Board: CB) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 105.6 ในเดือนสิงหาคม 2567 เป็น 98.7 ในเดือนกันยายน 2567 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 68.17 และ 71.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนกันยายน 2567 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ราคายางภายในประเทศภาพรวมมีการปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศโดย ราคายางในตลาดสิงคโปร์ (SICOM) ราคาเฉลี่ย 189.56 เซนต์ต่อกิโลกรัม โดยสภาพอากาศของไทยที่มีฝนตกชุก 60-80% ของพื้นที่ และในภาคใต้มีฝนหนักถึงหนักมาก ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ผลิตส่งผลต่ออุปทานวัตถุดิบ ซึ่งอุปทานที่ตึงตัวส่งผลให้ราคายางปรับตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ และความคืบหน้าของมาตรการ EUDR ต่อไป

กลุ่มยานยนต์: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกันยายน 2567 มีทั้งสิ้น 122,277 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน 2566 ร้อยละ 25.48 ผลิตเพื่อส่งออกในเดือนกันยายน 2567 ผลิตได้ 87,666 คัน เท่ากับร้อยละ 71.69 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกันยายน 2566 ร้อยละ 15.78 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในเดือนกันยายน 2567 จำนวน 34,611 คัน เท่ากับร้อยละ 28.31 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนกันยายน 2566 ร้อยละ 42.31 ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกันยายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 39,048 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2567 ร้อยละ 13.59 ลดลงจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์เพราะหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษยังอยู่ในระดับที่สูง โดยหนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 259 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม 2567

หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com