รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกรกฎาคม 2566
เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว แม้ผลกระทบจากวิกฤตโควิดและสงครามในยูเครนเริ่มบรรเทาลง สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน–สหรัฐฯ ยังคงยืดเยื้อ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของโลกจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ในปี 2566 และปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วโลกคาดว่าจะลดลงจากร้อยละ 8.7 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 6.8 ในปี 2566 และร้อยละ 5.2 ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมองว่ามีแนวโน้มลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 มีการปรับสูงขึ้น และผลจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ครั้งล่าสุด ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่กรอบ 5.25-5.50% เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เศรษฐกิจยุโรปเผชิญความเปราะบางจากอุปสงค์ภายในและผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน สำหรับการส่งออกของไทยนั้นยังเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ความเสี่ยงที่อาจสูงขึ้นในระยะต่อไปจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายนยังคงหดตัวต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ที่มีอุณหภูมิและคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะภัยแล้ง หรือปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño) อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ ในวงกว้าง
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกรกฎาคม 2566 ปรับตัวลดลงจาก 94.1 เป็น 92.3 เนื่องจากภาคการผลิตและอุปสงค์สินค้าชะลอตัวลง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบาง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกรกฎาคม 2566 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.3 จากระดับ 56.1 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิถุนายน 2566 ส่งออกมูลค่า 848,926.60 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 3.2 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ร้อยละ 2.23 เมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 24,826.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่นำเข้ามูลค่า 857,187.85 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 10.22 และลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาร้อยละ 5.24 เมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 24,768.35 ล้านเหรียญสหรัฐ เดือนมิถุนายน 2566 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 8,261.25 บาท ลดลงร้อยละ 83 และเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 57.69 ล้านเหรียญสหรัฐ (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2566 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนกรกฎาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 46.3 ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ระดับ 49.0 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ส่วนดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ปรับตัวลดลงจาก 53.2 ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ระดับ 50.7 ในเดือนกรกฎาคม 2566 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการปรับตัวในระดับลดลงจากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ลดลง ด้วยสภาวะอุปสงค์ที่ลดลงก็ส่งผลให้ความกดดันด้านราคาลดลงเช่นกัน และอาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง
พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ค. 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.319 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่ม เนื่องด้วยตลาดกังวลอุปทานตึงตัวจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) ขณะที่ทางการจีนประกาศสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามตลาดยังคงจับตามองการประชุมของ OPEC+ ในวันที่ 4 ส.ค. ว่าจะมีการออกนโยบายเพิ่มเติมหรือไม่ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 80.58 และ 84.99 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนกรกฎาคม 2566 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ราคายางภาพรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนที่ผ่านมาตามตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ ราคายางยังคงเผชิญความเสี่ยงจากประเทศคู่ค้าจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ การชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ อีกทั้งจีนเริ่มควบคุมการส่งออกโลหะ 2 ชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมชิป EV และโทรคมนาคม สำหรับเดือนมิถุนายน 2566 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ ปริมาณ 343,972 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.63 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 12.26 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.11 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: รถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 145,557 คัน เพิ่มขึ้น 1.78% (YoY) แต่ลดลง 3.30% จากเดือนพฤษภาคม 2566 เนื่องจากการผลิตขายในประเทศลดลง 2.01% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 84,909 คัน (58.33% ของยอดผลิตทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 4.66% (YoY) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 60,648 คัน (41.67% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมกราคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,440 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ร้อยละ 1.04 และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 5.16 เพราะความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|