E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  ตุลาคม 2564 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนตุลาคม 2564

เศรษฐกิจโลก: การค้าโลกเติบโตอย่างมีนัยสำคัญตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแม้จะเผชิญกับ supply disruption การจ้างงานมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างล่าช้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแตะระดับสูงในช่วงที่เหลือของปีนี้ ล่าสุดทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (The International Monetary Fund : IMF) ได้มีการปรับตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลกจะเติบโต 5.9% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคม 0.1% เนื่องจากการเติบโตชะลอลงของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งได้รับผลกระทบจาก Supply disruption และสถานการณ์แพร่ระบาดที่เลวร้ายลงในกลุ่มประเทศรายได้น้อย สำหรับปีหน้า IMF ยังคงประมาณการการเติบโตทั่วโลกไว้ที่ 4.9% การฟื้นตัวเศรษฐกิจอาจจะมีความซับซ้อนพอควร เนื่องด้วยจากการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 ครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก อุปสงค์ อุปทานอาจจะไม่มีความสอดคล้องกันตามปกติ อีกทั้ง ปัจจุบันประสบปัญหาราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาภาวะโลกร้อน

เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1 ต่อปี เนื่องด้วยผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อ COVID-19 ที่รุนแรง โดยมีอัตราการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ให้ได้อย่างน้อย 70% ของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้ม-พื้นที่ควบคุมสูงสุด ขณะเดียวกันทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 ว่าจะมีการขยายตัวที่ดีขึ้นที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี จากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องและจากภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับมาฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องติดตามในปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการควบคุมสถานการณ์และการแพร่ระบาด นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความต่อเนื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ ปัญหา Supply disruption เป็นต้น โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 64 และปี 65 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 0.7% และ 3.9% ตามลำดับ และทางคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2564 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกันยายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 76.8 เป็น 79.0 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น ในขณะเดียวกันต้นทุนประกอบการกลับปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมันและค่าขนส่ง ปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จากปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จึงอยากให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยมีการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าพร้อมวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เร่งออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ดูแลราคาพลังงานและราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นต้น สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2564 ส่งออกมูลค่า 760,556.26 ล้านบาท (23,035.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2563 ร้อยละ 24.40 และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาร้อยละ 6.31 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 750,267 ล้านบาท (22,426.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2563 ร้อยละ 38.35 แต่ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาร้อยละ 1.96 ดุลการค้าเดือนกันยายน 2564 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 10,289.26 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 609.84ล้านเหรียญสหรัฐฯ (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ Index (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 58.4 (-3.79%) จากระดับ 60.7 ในเดือนกันยายน 2564 การปรับตัวของดัชนีลง เนื่องด้วยจากการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในการผลิต ส่วนดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.9 (+4.09%) จากระดับ 48.9 ในเดือนกันยายน 2564 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการระบาดของ COVID-19 แต่ยังมีความกดดันด้านราคา เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับที่สูง แม้ว่าอุปสงค์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นโดยรวมในเดือนนี้ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการปรับปรับตัวต่อไปข้างหน้า
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค. 2564 ปรับเพิ่มขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 430.8 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน น้ำมันดิบยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากวิกฤตขาดแคลนพลังงาน โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดียที่จะหันมาใช้น้ำมันแทน หลังอุปทานถ่านหินและก๊าซธรรมชาติยังคงตึงตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางสภาพอากาศที่เริ่มหนาวเย็นขึ้นในแถบเอเชียเหนือ สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 83.57 และ 84.38 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนตุลาคม 2564 ราคายางภาพรวมและราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่ภาคการส่งออกมีการย่อตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยทางตอนใต้ของประเทศไทยยังมีฝนตกต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด - 19 การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งยาง อีกทั้ง ราคาพลังงานมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งเพิ่มสูงตามยังคงเป็นปัจจัยกดดัน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและจีน ความผันผวนของค่าเงินบาท ยังคงต้องติดตามต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ความสำคัญต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคเกษตร 2. การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3. การมีส่วนร่วมของภาคเกษตรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และ 4. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และขณะเดียวกันนี้ การยางแห่งประเทศไทย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ได้ให้นโยบายการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา เพื่อส่งเสริมพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ อีกทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอีกช่องทางหนึ่ง

ในเดือนกันยายน 2564  ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 385,087.09 ตัน ลดลง 2.33 เปอร์เซ็นต์จากเดือนสิงหาคม 2564 เพิ่มขึ้น 26.41 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 2.05 หมื่นล้านบาท ลดลง 3.35 เปอร์เซ็นต์จากเดือนสิงหาคม 2564 เพิ่มขึ้น 69.65 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนกันยายน 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12.35 ล้านเส้น ลดลง 3.62 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.76 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.27 เปอร์เซ็นต์ yoy

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกันยายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 140,038 คัน ลดลงจากเดือนกันยายนปีที่แล้วร้อยละ 6.43% และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 34.47% เพราะได้รับชิปและชิ้นส่วนของรถยนต์จากประเทศคู่ค้าที่ผ่อนคลายล็อกดาวน์ โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 81,282 คัน (58.04% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนกันยายน 2564 จำนวน 58,756 คัน (41.96% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกันยายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 56,871 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 ร้อยละ 34.84 เพราะมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – กันยายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,211,946 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – กันยายน 2563 ร้อยละ 25.93



หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com