รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนเมษายน 2563
ในเดือนเมษายนราคายางมีความผันผวนและมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ โดยราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนเมษายน 2563 อยู่ที่กิโลกรัมละ 39.72 ลดลง (-2.67%) จาก 42.58 บาท/กิโลกรัมในเดือนมีนาคม 2563 เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ครั้งใหญ่ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตและส่งออก และการบริโภค อีกทั้งยังส่งผลไปให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกว่าจะหดตัวร้อยละ 3 ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าหดตัวร้อยละ 5.3 เศรษฐกิจโลกที่เผชิญปัญหารุมเร้าในขณะนี้อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง หากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงและยืดเยื้อออกไป ทั้งนี้ รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต่างเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19และจากรายงานล่าสุดประเทศจีนมีอัตราการเติบโตจีดีพีในช่วงไตรมาส 1/63 ที่ระดับ -6.8% ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวของจีดีพีที่มากสุดในช่วง 20 ปี
สำหรับอุตสาหกรรมยางพาราก็ได้รับผลกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน (ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ) เช่นกัน หลังจากที่หลายประเทศมีการ Lockdown อย่างเช่นประเทศมาเลเซียที่ประกาศปิดประเทศ ส่งผลให้ผู้โดยสารและสินค้าไม่สามารถผ่านเข้า-ออกด่านพรหมแดน ทั้งนี้ ทางสมาคมยางพาราไทยได้มีการออกและส่งหนังสือ พร้อมเข้าเจรจาหารือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกและดำเนินการขนส่งสินค้าได้อย่างปกติ โดยให้มีมาตรฐานการตรวจคัดกรองโรค พร้อมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และให้มีแนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกันทุกๆ พื้นที่ ส่วนเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาที่มีความเห็นควรให้เปิดด่านสำคัญ 2 ด่าน คือ ด่านพรหมแดนสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ หากเปิดเพียงด่านใดด่านหนึ่งนั้น ก็ยังจะส่งผลเรื่องความแออัดของรถบรรทุกที่หนาแน่น การจราจรติดขัดบริเวณด่านพรหมแดน อีกทั้งเรื่องการดำเนินการทางด้านเอกสาร และเวลาที่จำกัดโดยประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 22 เม.ย. 63 ทีผ่านมา ได้มีการสั่งปิดด่านพรมแดนสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ไปจนถึงวันที่ 29 เมษายน 63 เพื่อทำความสะอาดด่านพรมแดนสะเดา หลังจากที่พบตำรวจตรวจเข้าเมือง (ตม.) ติดเชื้อ COVID-19 เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อไป ไม่เพียงเฉพาะด้านภาคการขนส่งเท่านั้น อุตสาหกรรมยางพารายังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอีกเช่นกัน ทั้งนี้ ทางภาครัฐได้ออกโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–กรกฎาคม 2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย (1) เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มแรก ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมงจำนวน 8.43 ล้านราย และ (2) เกษตรกรเป้าหมาย กลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 1.57 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการไม่เกิน 150,000 ล้านบาทเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 10 ล้านราย (ไม่ซ้ำซ้อนกับการได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน) ได้รับเงินจ่ายตรงรวม 15,000 บาท/ราย และมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในช่วงภาวะวิกฤติ และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเพื่อเพิ่มเติมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ และป้องกันการเกิดปัญหาทางสังคมที่อาจจะตามมา
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ เนื่องด้วยการระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงมาก และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนมีนาคม 2563 มีมูลค่าการส่งออก 693,352.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2562 ร้อยละ 4.21 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาร้อยละ 11.42 ในช่วงมกราคม – มีนาคม ปี 2563 ส่งออกมูลค่า 1,903,156.52 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 2.98 สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครั้งถัดไป กำหนดจัดในวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2563 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 36.1 (-26.48%) ในเดือนเมษายน 2563 จากระดับ 49.1 ในเดือนมีนาคม 2563 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยลดลงจาก 46.7 ในเดือนมีนาคม 2563 มาอยู่ที่ 36.8 ในเดือนเมษายน 2563
ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 เม.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 10.6 ล้านบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากตลาดยังกังวลกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องหลังความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลกชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กดดันความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรหรือกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) โดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซียประกาศพร้อมเดินหน้าลดกำลังการผลิตลงตามข้อตกลง เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาน้ำมันและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาด โดยจะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค. 63 ตามข้อตกลงในการประชุมฉุกเฉินในช่วง 12 เม.ย.63 ที่ผ่านมา ทั้งยังเตรียมประชุมฉุกเฉินอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ค. อีกด้วย นอกจากนั้นตลาดได้รับปัจจัยบวกจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศที่จะคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายรัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง หลังการประกาศล็อคดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ประชาชนกว่า 20 ล้านคนต้องตกงาน หากสหรัฐฯ กลับสู่ภาวะปกติ คาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น
ในเดือนมีนาคม 2563 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 372,264.17 ตัน ลดลง 17.66 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลง 14.67 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.61 หมื่นล้านบาท ลดลง 14.6เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลง 9.76 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 10.64 ล้านเส้น ลดลง 6.1 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.39 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.11 เปอร์เซ็นต์ yoy จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมีนาคม 2563 มีทั้งสิ้น 146,812 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2562 ร้อยละ 26.16 จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้สะสมเดือนมกราคม - มีนาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 453,682 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - มีนาคม 2562 ร้อยละ 19.2
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|