E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  กุมภาพันธ์ 2557 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางธรรมชาติประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557

========

ตลาดยาง

========

 

ศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557

ราคายางลดลง 6 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนขาย stop loss กันถ้วนหน้า ผู้ซื้อไม่กล้าซื้อ เนื่องจากเกรงว่าราคายางจะลดลงไปกว่านี้ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว สต็อกยางเพิ่มสูงขึ้น และมีอุปทานส่วนเกินจำนวนมาก ตลาดยางฟื้นตัวในวันศุกร์ หลังจากวันหยุดยาวตรุษจีนได้สิ้นสุดลง ทำให้ราคากระเตื้องขึ้นเล็กน้อย

การประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ (IRCo) ในเดือนกุมภาพันธ์ มีผลสรุปว่า สต็อกยางธรรมชาติในประเทศผู้ผลิตหลักอยู่ในระดับต่ำ ไม่ตรงกับที่สื่อรายงาน และมีแนวโน้มลดต่ำลง เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ IRCO ขอให้กลุ่มประเทศผู้ผลิตหลัก ไม่ขายยางในราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557

ราคายางเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ยางล้อซื้อยางจำนวนมากในราคาต่ำ ข้อมูลการค้าของจีนที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็ช่วยผลักดันราคาให้สูงขึ้นเช่นกัน

ศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557

ราคายางล่วงหน้าและท้องถิ่นในเอเชียปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจาก IRCo ประกาศเน้นย้ำว่า อุปทานยางจากประเทศผู้ผลิตหลักอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันพฤหัสบดีและศุกร์ นักลงทุนมีความกังวลและถือยาว หลังจากดัชนี PMI ของจีนลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 48.3

==================================

การผลิต การใช้ การนำเข้า และการส่งออก

==================================

The Rubber Economist รายงานว่า เนื่องจากยางธรรมชาติของโลก มีผลผลิตออกมามากกว่าการใช้ ยางธรรมชาติส่วนเกินในปี 2557 จะไต่ระดับจาก 336,000 ตันในปี 2556 เป็น 366,000 ตัน ผลผลิตยางธรรมชาติของโลกในปีนี้ จะแตะระดับสูงขึ้น 3.3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 11.965 ล้านตัน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า 3 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่กรีดในเวียดนาม พม่า กัมพูชา และอื่นๆ

ในงาน India Rubber Meet ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2557 Sunny Song นายกสมาคมอุตสาหกรรมยางจีน กล่าวว่า การใช้ยางของจีนในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 6.5 เปอร์เซ็นต์ ไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.3 ล้านตัน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ ที่ช่วยเร่งอุปสงค์การใช้ยางล้อ ราคายางจะขยับขึ้นในอีก 6-12 เดือน หลังจากสต็อกส่วนเกินจะค่อยๆ ลดลง เมื่อนั้นสมดุลยภาพระหว่างอุปสงค์และอุปทานจะเกิดขึ้น

IRSG คาดการณ์ว่าการใช้ยางของโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 4.4 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเติบโตแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน อุปสงค์ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์จะแตะระดับ 27.7 ล้านตันในปีนี้

คณะกรรมการยางอินเดียรายงานว่า ในปีงบประมาณ 2557-2558 (เริ่มต้นเมษายน 2557) อินเดียมีแนวโน้มนำเข้ายางธรรมชาติลดลงเหลือ 200,000 ตัน เนื่องจากผลผลิตในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น และภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น การใช้ยางจะไต่ระดับเพิ่มขึ้น 4.1 เปอร์เซ็นต์เป็น 1.01 ล้านตัน เนื่องจากอุปสงค์ยางล้อทดแทนเพิ่มขึ้น ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ เป็น 950,000 ตัน ถ้าสภาพอากาศปกติ

======

ยางล้อ

======

โยโกฮาม่า รับเบอร์ คอปอเรชัน รายงานว่ายอดขายและรายได้ในปี 2556 สะท้อนถึงการฟื้นตัวธุรกิจยางล้อในอเมริกาเหนือ จีน และญี่ปุ่น ถึงแม้อุปสงค์จะหดตัวในรัสเซีย และประเทศอื่นในยุโรป นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบลดลง เงินเยนอ่อนค่าต่อดอลลาร์ ก็เป็นอีกปัจจัยสนับสนุน รายได้ดำเนินการในภาคยางล้อเพิ่มขึ้น 6.1 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายในภาคยางล้อเพิ่มขึ้น 7.9 เปอร์เซ็นต์

กลุ่มมิเชอลินรายงานรายได้สุทธิ 1.1 พันล้านยุโร ต่อยอดขายสุทธิ 20.2 พันล้านยูโร ในปีงบประมาณ 2556 รายได้ดำเนินการปี 2556 อยู่ที่ 2.2 พันล้านยูโร ลดลง 7.8 เปอร์เซ็นต์จากปี 2555 กำไรลดลง เนื่องจากอุปสงค์ยางล้อรถดันหดตัว อุปสงค์ยางล้อสำหรับงานเหมืองแร่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่กลับลดลงอย่างมากในไตรมาส 4/2556 ตลาดยางล้อ OE ซบเซาอย่างมากในยุโรปและอเมริกาเหนือ เนื่องจากอุปสงค์หดตัว

โตโย ไทร์ รายงานผลประกอบการในปี 2556 ว่า รายได้ดำเนินการในภาคยางล้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2555 เป็น 345.8 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 15.2 เปอร์เซ็นต์เป็น 2.97 พันล้านดอลลาร์ เนื่องด้วยอุปสงค์ยางล้อในอเมริกาเหนือเติบโต เงินเยนอ่อนค่าต่อดอลลาร์ และราคาวัตถุดิบมีเสถียรภาพมากขึ้น ยอดขายเติบโตมากในอเมริกาเหนือ เนื่องจากความต้องการสินค้ามูลค่าเพิ่มมีมากขึ้น

=======

ยานยนต์

=======

ยอดขายรถยนต์ในยุโรปเพิ่มขึ้น 5.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 967,778 คันในเดือนมกราคม สัญญาณการฟื้นตัวในตลาดยุโรป เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน และต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป รายงานว่ายอดขายรถยนต์ในสหภาพยุโรปปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว ตลาดอังกฤษและสเปนเติบโต 7.6 เปอร์เซ็นต์ เยอรมนีเติบโต 7.2 เปอร์เซ็นต์ อิตาลีและฝรั่งเศสเติบโต 3.2 และ 0.5 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ในบรรดาตลาดใหญ่ๆ มีเพียงเนเธอร์แลนด์เท่านั้นที่มียอดขายลดลง 7.1 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายในประเทศเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป ก็ปรับตัวในทิศทางบวกเช่นกัน ยอดขายในไอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์ โปรตุเกสเพิ่มขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ กรีซเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์

สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ในจีนรายงานว่า ยอดขายรถยนต์ในจีนแตะระดับ 20 ล้านคันในปี 2556 และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 8-12 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ จาก 15.7 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน ในเดือนมกราคม 2557 ยอดขายรถยนต์ในจีนเติบโต 7 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นยอดขายรายเดือนๆ แรกที่ทะลุเป้า 1.8 ล้านคัน

ยอดขายยานพาหนะเบาในสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2557 ลดลง 3.1 เปอร์เซ็นต์ yoy เป็น 1,010,713 คันเนื่องจากสภาวะอากาศหนาวและหิมะตกหนัก ยอดขายรถบรรทุกสูงกว่ารถยนต์และยานพาหนะอื่นๆ ติดต่อกันเป็นเวลา 13 เดือน

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com