รายงานสถานการณ์ยางพาราประจำเดือนสิงหาคม 2561
ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่กิโลกรัมละ 44.69 บาท ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 1.46 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง ดังนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และตุรกี ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว ในขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีความรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ อ่อนแอลง ภาคการส่งออกไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางสภาวะเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง อันมีสาเหตุจากเงินทุนไหลออก เนื่องจากดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยยังคงอัตราดอกเบี้ย และนักลงทุนได้มีการขายดอลลาร์ออกมา เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อที่ขยายตัวในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการบริโภคโดยรวมของโลก สต็อกยาง ณ ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ยังคงมีปริมาณสูง สวนทางกับอุปสงค์ที่ยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกหนุนราคายาง เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ปริมาณผลผลิตยางของประเทศอินเดียมีแนวโน้มลดลงหลังจากพื้นที่ปลูกยางในรัฐ Kerala ประสบอุทกภัยอย่างหนักเมื่อวันที่ 12 ส.ค. กอปรกับมีฝนตกในพื้นที่ปลูกยางของไทย ส่งผลให้ปริมาณยางเข้าตลาดน้อย ในเดือนกรกฎาคม ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 303,325 ตัน เพิ่มขึ้น 5.98 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมิถุนายน และ 6.29 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.32 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.79 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมิถุนายน ลดลง 8.59 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 2,171,708 ตัน เพิ่มขึ้น 3.80 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 9.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 27.83 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนกรกฎาคม ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 10.94 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 2.14 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.36 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกยางล้อรวม 75.63 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 6.02 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 8.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.89 เปอร์เซ็นต์ yoy
|