ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 54.44 บาท ลดลงจากเดือนมิถุนายน 4.64 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง ดังนี้ ปริมาณวัตถุดิบในประเทศผู้ผลิตมีมาก โดยเฉพาะไทย เนื่องจากฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ปลูกยาง เกษตรกรกรีดยางได้มากขึ้น สต็อกยางจีนเพิ่มปริมาณมากขึ้นแตะระดับ 382,768 ตัน ณ วันที่ 28 กรกฎาคม เทียบกับช่วงต้นเดือนที่ 367,719 ตัน ณ วันที่ 7 กรกฎาคม สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคม ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 51.4 จากเดือนมิถุนายน ที่ 51.7 นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องในตลาดการเงินของจีน หลังจากธนาคารกลางจีนได้ระงับการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบตลาดเงินอย่างต่อเนื่อง 7 วันติดต่อกัน ทำให้สภาพคล่องในตลาดลดลง และยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ หลังจากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามทวีปไปตกในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า นอกจากนี้ นักลงทุนระมัดระวังในการซื้อขาย หลังจากมีกระแสข่าวว่าธนาคารประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งรวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางยุโรป สมาคมผู้ผลิตยางและยางล้อยุโรป เผยยอดขายยางล้อชนิดต่างๆ ลดลงอย่างมีนัยยะในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์
ในเดือนมิถุนายน ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 261,251 ตัน ลดลง 5.78 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤษภาคม และ 16.67 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.50 หมื่นล้านบาท ลดลง 14.01 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 19.39 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 1,806,854 ตัน ลดลง 4.80 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 1.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.01 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมิถุนายน ไทยผลิตยางล้อรวมทั้งสิ้น 11.29 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 12.07 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.52 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 60.62 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 9.28 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 7.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.37 เปอร์เซ็นต์ yoy