รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมีนาคม 2564
เศรษฐกิจ: แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยผลกระทบการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากภาคการส่งออก มีการขยายตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เนื่องด้วยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึง ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางนโยบายการเงิน ควรเร่งดำเนินการและสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการฟื้นฟูกิจการ ควบคู่การปรับรูปแบบธุรกิจและระดับทักษะแรงาน
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 83.5 เป็น 85.1 เนื่องจากภาคการผลิตขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ของภาครัฐ มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 ระลอกใหม่ผ่านโครงการต่างๆ แต่ผู้ประกอบการยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งอัตราค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม อีกทั้งการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลในด้านการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่งออกมูลค่า 601,507.35 ล้านบาท ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 3.87 แต่ลดลงจากเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.41 เมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่า 20,219.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ร้อยละ 2.59 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.60 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 8,528.15 ล้านบาท ในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 23,051.96 ล้านบาท ...(อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนมีนาคม 2564 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 59.1 (+0.85%) จากระดับ 58.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 48.8 (+3.39%) ในเดือนมีนาคม 2564 จาก 47.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องด้วยคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผู้ผลิตในประเทศไทยจึงลดการผลิตเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และผลผลิต การเพิ่มขึ้นในส่วนที่เหลือมาจากการลดลงที่ช้าลงของสต็อกวัตถุดิบที่ซื้อ ในขณะที่องค์ประกอบด้านเวลาส่งมอบของผู้ผลิตวัตถุดิบและการจ้างงานต่างแสดงทิศทางที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นส่วนใหญ่ในเดือนมีนาคม
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 มี.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 502.7 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบมีความผันผวน เนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ในยุโรป ซึ่งต้องติดตามผลการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในการปรับลดกำลังการผลิต ในวันที่ 1 เม.ย.64 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-26 มี.ค. 64) ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากเหตุการณ์เรือขนส่งสินค้าลำใหญ่เกยตื้นและขวางคลองสุเอซของอียิปต์ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้การจราจรทางน้ำในคลองสุเอซติดขัด ส่งผลกระทบการเดินเรือมากกว่า 200 ลำ และเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์อยู่ที่ระดับ 60.97 และ 64.57 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนมีนาคม 2564 ปริมาณยางโดยภาพรวมมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลที่ปิดกรีด ส่งผลให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อยลง ด้านราคาภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น ปัจจัยสนับสนุนจากผู้ประกอบการมีความต้องการยางในการส่งมอบ ค่าเงินบาทอ่อนตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศมีแนวโน้มเชิงบวกระยะกลาง และมีการย่อตัวลงในระยะสั้นเพื่อทำกำไรเล็กน้อย ในส่วนปัจจัยกดดันยังมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ประกอบกับการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเรือ Evergreen ได้เกยตื้นที่คลองสุเอซ ซึ่งขวางเส้นทางการส่งสินค้าทางทะเลทั่วโลกเป็นเวลากว่าสัปดาห์ และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน รวมถึงค่าระวางเรือสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคายางพาราในไตรมาส 1/2564 ยังถือว่าอยู่ในระดับดี จากความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น คาดว่าอุปสงค์ยางจะเพิ่มขึ้นตามจากการขยายตัวของอุปสงค์ของถุงมือยาง การส่งออกถุงมือยางดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรับสิทธิ์ GSP และในขณะเดียวกันจีนมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยายนต์อย่างต่อเนื่อง
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ 415,616.55 ตัน เพิ่มขึ้น 25.61 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมกราคม 2564 ลดลง 8.07 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 2.03 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.88 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมกราคม 2564 เพิ่มขึ้น 7.27 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 4.65 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.46 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.27 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ มีนโยบายให้ทุกหน่วยเร่งแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยได้จัดเตรียมแนวคิด บิสซิเนสโมเดล Business model หรือโมเดล 3 ขา ระหว่าง กยท. ผู้ประกอบการโรงงาน และเกษตรกร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพารา และเสริมสร้างความแข็งแรงให้เกษตรกร และผู้ประกอบการ โดย กยท. จะเป็นแกนหลัก หรือขาที่ 1 ในการจะทำหน้าที่อุดหนุนสินเชื่อ ส่วนเกษตรกรมีหน้าที่ หรือ ขาที่ 2 จะทำหน้าที่ ส่งวัตถุดิบ เพื่อให้โรงงาน หรือขาที่ 3 ใช้สมรรถภาพกำลังในการผลิตเต็มที่ ทุกฝ่ายจะร่วมกันแก้ไขปัญหาราคายางพารา และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมากขึ้น
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีทั้งสิ้น 155,200 คัน เพิ่มขึ้น 3.05%โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 88,315 คัน (56.90% ของยอดผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 58,960 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 6.8 และงานมอเตอร์โชว์ในวันที่ 24 มีนาคม ถึง วันที่ 4 เมษายน 2564 ซึ่งคาดหวังว่าจะกระตุ้นยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นได้เหมือนปี 2563”
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|