รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกรกฎาคม 2564
เศรษฐกิจโลก: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงดำเนินอยู่ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะซึมยาว เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 6 ในปี 2564
เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่ายังคงฟื้นตัวช้า โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดในหลายกลุ่มคลัสเตอร์อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ความผันผวนและความไม่แน่นอนของตลาดน้ำมันโลก และทิศทางนโยบายการเงินโลก ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนโดยเร็วอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อออกไป อีกทั้ง ควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 14.5 ต่อปี และทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินการระบาดระลอกล่าสุดกระทบ GDP 0.8-2% ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 5/2564 ซึ่งกำหนดประชุมในวันพุธที่ 4 สิงหาคม 2564 จะยังคงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอัตราที่ร้อยละ 0.50 ต่อปีหรือไม่ยังคงต้องติดตาม
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวลดลงจาก 82.3 เป็น 80.7 เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและยังมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต จนภาครัฐต้องยกระดับมาตรการควบคุม COVID-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังทำได้อย่างจำกัด และไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ ด้านการส่งออกสถานการณ์การขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้ายานยนต์ สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิถุนายน 2564 ส่งออกมูลค่า 738,135.34 ล้านบาท (23,699.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 ร้อยละ 41.48 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาร้อยละ 3.25 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 718,651.32 ล้านบาท (22,754.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 ร้อยละ 51.33 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาร้อยละ 2.68 ดุลการค้าเดือนมิถุนายน 2564 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 19,484.02 ล้านบาท (945.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2563 ร้อยละ 58.39 (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 63.4 จากระดับ 62.1 ในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นเช่นกัน และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 48.7 (-1.62%) จากระดับ 49.5 ในเดือนมิถุนายน 2564 อุปสงค์และการผลิตชะลอตัวลง เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมการซื้อและการจ้างงานลดลง กลุ่มบริษัทมีความระมัดระวังในการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยอุปสงค์์ที่ลดลงโดยรวมนั้นส่งผลให้้งานคงค้างในภาคการผลิตลดลง และในขณะเดียวกันของอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงช่วยบรรเทาความกดดันในด้านภาวะเงินเฟ้อของต้นทุนการผลิต กลุ่มบริษัท-ผู้ประกอบการต่างยังมีความเชื่อมั่นในเชิงลบ จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นโดยรวมในภาคการผลิตของประเทศไทยยังคงลดลง
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 23 ก.ค. 2564 ปรับลดลง 4.1 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 435.6 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในหลายพื้นที่ทั่วโลก การลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนจากค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลง เมื่อเทียบกับเงินสกุลเงินอื่น สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส และเบรนท์เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 73.62 และ 76.05 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนกรกฎาคม 2564 ปริมาณยางโดยภาพรวมปรับตัวลดลง ผลผลิตยังคงออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนด้านราคายางภาพรวมปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกันกับตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ โดยการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศระยะกลางอยู่ในช่วงย่อตัวลง และมีแรงเทขายสูง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการยางในการส่งมอบก่อนช่วงสิ้นปีนี้ ปัจจัยกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแพร่ระบาดของเชื้อในอัตราสูงขึ้น ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องใช้มาตรการควบคุมเขตพื้นที่อย่างเข้มงวด (Lockdown) และห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด (Curfew) อีกทั้งผู้ซื้อมีการชะลอการซื้อขายยาง ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามภาครัฐยังคงติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมแก้ปัญหาในสภาวะราคายางผันผวน ควบคู่กับมาตรการระยะยาวที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ควรติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด
ในเดือนมิถุนายน 2564 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 338,669.32 ตัน ลดลง 3.13 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤษภาคม 2564 เพิ่มขึ้น 0 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.83 หมื่นล้านบาท ลดลง 1.41 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤษภาคม 2564 เพิ่มขึ้น 37 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมิถุนายน 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 13.43 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 27.19 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.78 เปอร์เซ็นต์ yoy
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 134,245 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 ที่ 87.22% แต่ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2564 ร้อยละ 4.23% เนื่องด้วยผลิตได้ไม่เต็มที่จากขาดชิ้นส่วนในบางรุ่น โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 74,574 คัน (55.55% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 59,671 คัน (44.45% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 61,758 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 10.40 และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 844,601 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 ร้อยละ 39.34
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|