ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 72.32 บาท ลดลงจากเดือนเมษายน 1.35 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง ดังนี้ ความต้องการซื้อยางจากจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ ถึงแม้ว่าจะมีการถามซื้อก็ตาม แต่ราคาเสนอขายที่อยู่ในระดับสูงเกินกว่าความเป็นจริงไม่ใช่ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นตลาดและราคายาง ประกอบกับสต็อกยางจีนเพิ่มขึ้น ณ วันที่ 12 พฤษภาคม เป็น 339,940 ตัน จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 337,906 ตัน แหล่งข่าวรายงานว่าสต็อกยางของโรงงานหลายแห่งยังมีจำนวนมาก ขณะที่ราคายางเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง จึงชะลอซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์ จีนเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซา ได้แก่ ยอดการผลิตและยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนเมษายนลดลง 1.9 เปอร์เซ็นต์ และ 2.2 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ จากการปรับเพิ่มอัตราภาษีการขายและอุปสงค์ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงราคายางให้เคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบ WTI โอกลาโฮมา ปรับตัวสูงขึ้นจาก 46.22 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม เป็น 47.84 และ 50.33 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ณ วันที่ 12 และ 19 พฤษภาคม ตามลำดับ นอกจากนี้ ต้นยางให้น้ำยางน้อย เพราะหลายพื้นที่เริ่มปิดกรีด และบริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างเบาบาง ขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราใหม่ในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น
ในเดือนเมษายน ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 278,055 ตัน ลดลง 21.82 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมีนาคม และ 12.43 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.95 หมื่นล้านบาท ลดลง 23.71 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 36.78 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนเมษายน ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 1,268,314 ตัน สร้างมูลค่ารวม 8.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.19 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนเมษายน ไทยผลิตยางล้อรวมทั้งสิ้น 8.6 ล้านเส้น ลดลง 1.28 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.03 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.15 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้วตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนเมษายน ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 38.46 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 8.45 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 4.57 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.75 เปอร์เซ็นต์ yoy