รายงานสถานการณ์ยางพาราประจำเดือนพฤษภาคม 2562
ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่กิโลกรัมละ 53.87 บาท ลดลงจากเดือนเมษายนเพียง 0.19 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง ดังนี้ ราคายางเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ต่อเนื่องจากเดือนเมษายน มีปัจจัยจากปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อยเนื่องจากยังอยู่ในช่วงปิดกรีด ผู้ประกอบการมีปริมาณยางคงคลังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ภาคใต้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากไทยขานรับมาตรการลดการส่งออก (AETS) 126,240 ตัน กอปรกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก มีแนวโน้มผันผวนในกรอบราคาที่สูง หลังกลุ่มผู้ผลิตโอเปกไม่เร่งที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ และมีแนวโน้มที่จะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตไปถึงปลายปี 2019 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการสหรัฐฯ ได้รับอานิสงส์จากการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้าสินค้าจากจีน ทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการขยายตัว อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการค้าสหรัฐฯ-จีน ทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ภาคการผลิต ภาคการลงทุน ภาคการบริโภคของเอกชนของจีน นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงชะลอตัว
ในเดือนเมษายน ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 248,696 ตัน ลดลง 17.91 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมีนาคม และ 28.53 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.07 หมื่นล้านบาท ลดลง 12.11 เปอร์เซ็นต์จากเดือนมีนาคม และ 31.56 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 1,156,455 ตัน ลดลง 9.63 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 4.66 หมื่นล้านบาท ลดลง 17.23 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนเมษายน ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 10.54 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 10.93 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.33 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.98 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกยางล้อรวม 42.57 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 0.32 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 5.44 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.63 เปอร์เซ็นต์ yoy
|