รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566
เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว เนื่องด้วยเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกมีการเติบโตช้าลง จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ สงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน–สหรัฐฯ เรื่องของการค้า หรือเรื่องของมาตรฐานต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงของทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2566 เมื่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เป็นตลาดหลัก ๆ เติบโตช้าลง ส่งผลกำลังซื้อจากประเทศเหล่านี้ก็จะน้อยลง ส่วนเศรษฐกิจจีนยังคงต้องติดตามภายหลังจากจีนเริ่มเปิดประเทศ ทั้งการค้าขาย การลงทุน การผลิต และการท่องเที่ยว ที่อาจจะเติบโตได้มากกว่าปีที่แล้ว ขณะที่โอกาสของเศรษฐกิจไทยจะมาจากการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาท (เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ) ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ล่าสุดทาง International Monetary Fund (IMF) ได้คาดการณ์ว่าการเติบโตของโลกจะลดลงเหลือ 2.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2566 แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2567
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 93.9 เป็น 96.2 เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคการผลิต มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐต่างๆ แต่ยังคงมีปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับตัวลง สภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง เงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.5 จากระดับ 51.3 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมกราคม 2566 ส่งออกมูลค่า 700,126.74 ล้านบาท (20,249.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ลดลงจากเดือนมกราคม 2565 ร้อยละ 0.93 และลดลงจากเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาร้อยละ 9.82 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 871,430.06 ล้านบาท (24,899.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2565 ร้อยละ 9.44 และเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาร้อยละ 5.87 เดือนมกราคม 2566 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 171,303.32 บาท (ขาดดุล 4,649.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2566 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 47.3 จากระดับ 46.9 ในเดือนมกราคม 2566 ส่วนดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.8 จากระดับ 54.5 ในเดือนมกราคม 2566 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการขยายตัวดีขึ้น ด้วยสภาวะอุปสงค์ดีขึ้น สินค้าที่ผลิตในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันอุุปสงค์จากต่างประเทศสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยยังคงลดลง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อของต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าความกดดันต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นการส่งต่อภาระต้นทุนไปให้กับลูกค้า อีกทั้งยังส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ปรับเพิ่มขึ้นด้วย
พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 24 ก.พ. 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.2 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่ม เนื่องด้วยมีการคาดการณ์ตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบในจีนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ตลาดยังคงจับตามองอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจปรับตัวลดลง หลังรัสเซียมีแผนที่จะปรับลดกำลังการผลิตในเดือน มี.ค. 66 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 77.05 และ 83.89 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ราคายางภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนทิศทางตลาดล่วงหน้าต่างประเทศปรับย่อตัวลง และในขณะเดียวกันตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ การยืดเยื้อของสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันตลาด เดือนมกราคม 2566 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ จำนวน 434,930 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.91 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 10.03 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.67 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 157,844 คัน เพิ่มขึ้น 4.02% (YoY) จากปีก่อน แต่ลดลง 0.48% จากเดือนธันวาคม 2565 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเดือนมกราคม 2566 จำนวน 91,532 คัน (57.99% ของยอดผลิตทั้งหมด) เพิ่มขึ้น 7.43% (YoY) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมกราคม 2566 จำนวน 66,312 คัน (42.01% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมกราคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 65,579 คัน ลดลง 20.80% จากเดือนธันวาคม 2565 เนื่องจากยังขาดแคลนชิปในบางรุ่น
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|