ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่กิโลกรัมละ 58.73 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 6.16 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสาเหตุจากปัจจัยดังต่อไปนี้
อุปทานยางในประเทศผู้ผลิตมีน้อย โดยเฉพาะไทยเกิดภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อส่งมอบและต้องเลื่อนการส่งมอบ จึงเร่งซื้อ ทำให้เกิดการแข่งขันสูง เงินเยนอ่อนค่าแตะระดับ 105.64 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นักลงทุนตอบรับธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงิน 3 หมื่นล้านหยวน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับระบบการเงิน ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวได้ดีเกินคาด ช่วยหนุนความคาดหวังที่ว่าเศรษฐกิจในประเทศเริ่มเข้าสู่สภาวะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 6.7 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับไตรมาส 1 ปีนี้ ธนาคารกลางยุโรป พร้อมที่จะใช้เครื่องมือสร้างเสถียรภาพในตลาด และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0 เปอร์เซ็นต์ กระแสข่าวรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินอย่างน้อย 20 ล้านล้านเยน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดและป้องกันผลกระทบจากอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น และผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่
ในเดือนมิถุนายน 2559 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 313,503 ตัน เพิ่มขึ้น 15.94 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤษภาคม และ 1.82 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 12,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.45 เปอร์เซ็นต์จากเดือนพฤษภาคม และลดลง 18.47 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนมิถุนายน ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 1,897,951 ตัน ลดลง 7.47 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 78,523 ล้านบาท ลดลง 18.90 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมิถุนายน 2559 ไทยผลิตยางล้อรวมทั้งสิ้น 10.07 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 2.77 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 11.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.34 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนมิถุนายน ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 55.47 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 7.37 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 59.99 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.70 เปอร์เซ็นต์ yoy