รายงานสถานการณ์ยางพาราประจำเดือนเมษายน 2562
ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนเมษายน 2562 อยู่ที่กิโลกรัมละ 53.97 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2.78 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง ดังนี้ ปริมาณยางเข้าสู่ตลาดน้อย เนื่องจากพื้นที่ปลูกยางของไทยยังอยู่ในช่วงปิดกรีด เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออก สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีผลการเจรจาในทิศทางที่ดีขึ้น ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคมของจีนเพิ่มขึ้นในระดับ 50.5 แสดงถึงการขยายตัวภาคการผลิต นอกจากนี้ GDP ไตรมาสแรกของจีน อยู่ในระดับสูงเกินคาดที่ 6.4 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว จากตัวเลขค่าจ้างแรงงานที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จากแรงหนุนของอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ประกอบกับสหรัฐฯ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดระดับมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลา อีกทั้งการใช้น้ำมันดิบของสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายางลดลง จากการเทขายรุนแรงในช่วงวันหยุด Good Friday เศรษฐกิจสหภาพยุโรปหดตัว เห็นได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงมาอยู่ที่ 47.6 กอปรกับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้การผลิตลดลง ในส่วนของญี่ปุ่น เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ไม่สร้างแรงจูงใจในการผลิตสินค้า ส่งผลต่อการใช้ยาง ในเดือนมีนาคม ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 302,950 ตัน เพิ่มขึ้น 0.24 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ และ 8.18 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.22 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.14 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ และ 1.63 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 907,758 ตัน ลดลง 2.65 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 3.58 หมื่นล้านบาท ลดลง 11.76 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมีนาคม ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 11.33 ล้านเส้น ลดลง 1.54 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.58 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ไทยส่งออกยางล้อรวม 32.03 ล้านเส้น ลดลง 2.74 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 4.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.39 เปอร์เซ็นต์ yoy
|