รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนกรกฎาคม 2565
แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อ ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 2.25-2.50% ซึ่ง Fed ยังคงส่งสัญญาณที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้ขยับเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับลดขนาดงบดุล พร้อมชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีปัจจัยบวกอยู่ โดยขณะที่การใช้จ่ายและการผลิตได้ชะลอตัวลง แต่การจ้างงานยังคงแข็งแกร่งและอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ และทางสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) แห่งกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขจีดีพี "ล่วงหน้า" ประจำไตรมาสที่ 2/2022 ติดลบ 0.9% ขณะที่จีดีพีในไตรมาสก่อนหน้าติดลบ 1.6% คําถามว่า “เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะนี้เข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่” หากกล่าวในหลักเศรษฐศาสตร์นั้น เมื่อจีดีพีติดลบต่อเนื่องสองไตรมาสจะถือเป็นการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ ยังมั่นใจเศรษฐกิจไม่เสี่ยงถดถอย แม้ทั่วโลกกำลังกังวลก็ตาม ส่วนทิศทางของเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญวิกฤตราคาน้ำมันแพง เงินเฟ้อสูง กระทบค่าครองชีพเช่นกัน แต่ยังคงมีแรงหนุนสำคัญจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและส่งออก ล่าสุดทางครม. ได้มีมติอนุมัติโครงการคนละครึ่งเฟส 5 คนละ 800 บาท เริ่ม ก.ย.-ต.ค. ส่วนกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ- กลุ่มเปราะบางได้อีกคนละ 400 บาท และลดภาษีประจำปีรถ EV ระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน มาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยคาด GDP ปี 65 และ 66 ว่าจะอยู่ที่ 3.3% และ 4.2% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินจะประชุมครั้งถัดไปในวันพุธที่ 8 สิงหาคม 2565 ผลการประชุมจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาสกัดเงินเฟ้อหรือไม่ยังต้องติดตาม
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 84.3 เป็น 86.3 เนื่องจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัว แต่ผลกระทบจากการสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหา Supply Shortage ก็ยังไม่คลี่คลาย ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางชะลอตัวลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า
สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิถุนายน 256 ส่งออกมูลค่า 907,286.22 ล้านบาท (26,553.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 22.70 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาร้อยละ 6.19 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 971,480.61 ล้านบาท (28,082.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 36.34 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาร้อยละ 4.59 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 64,194.39 ล้านบาท (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2565 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีภาคการผลิต (S&P Global US Manufacturing PMI (PMI)) เดือนกรกฎาคม 2565 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 52.2 จากระดับ 52.7 ในเดือนมิถุนายน 2565 เนื่องด้วยการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ความกังวลและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรม แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง และในขณะเดียวกันดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.4 จากระดับ 50.7 ในเดือนมิถุนายน 2565 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้น ยอดส่งออกยังขยายตัวได้ดี แต่ในขณะเดียวกันการจ้างงานลงลด
พลังงาน (น้ำมัน) : สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ค. 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.165 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบมีการย่อตัวลง เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัว หลัง IMF ได้ปรับลด GDP โลกปี 2565 ลง ในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจปรับลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน เนื่องจากลิเบียจะกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 98.62 และ 110.01 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนกรกฎาคม 2565 ราคายาง ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลาเฉลี่ยนั้น ภาพรวมปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมาในทิศทางเดียวกับราคายางตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลงเช่นกัน ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีสภาพอากาศแปรปรวนและมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณยางเข้าสู่ตลาดน้อยลงกอร์ปกับสถานการณ์โรคใบร่วงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฝนชุก อีกทั้งมีปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ต้องเผชิญต่อไปจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขาดแคลนแรงงานกรีด และสถานการณ์โควิดทั่วโลกคลี่คลายลงทำให้ความต้องการน้ำยางในการผลิตถุงมือยางชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยางล้อยังคงต้องการยางเพื่อส่งมอบ รวมถึงสัญญาณดีที่ยอดขายรถยนต์ในกลุ่มพลังงานใหม่หรือรถไฟฟ้าปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการยางเพิ่มขึ้น ในเดือนมิถุนายน 2565 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 415,926.50 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 2.49 หมื่นล้านบาท ส่วนยางล้อในเดือนเดียวกันนี้ ไทยส่งออกยางล้อ 12.58 ล้านเส้น สร้างมูลค่าการส่งออก 2.08 หมื่นล้านบาท
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 143,016 คัน เพิ่มขึ้น 10.67% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 6.53% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 71,002 คัน (49.65% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 72,014 คัน (50.35% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมิถุนายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 67,952 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2565 ร้อยละ 4.97 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 4.6 เพิ่มขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นและการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|