E-Magazine facebook
สาส์นจากนายกสมาคม TRA PRESIDENT VIEW
     
  history  
 
     
     บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางพารา  มิถุนายน 2564 [เลือกปีปัจจุบัน]      
    
**กรุณาใช้ Adobe Acrobat Reader ในการอ่านไฟล์   
 

 รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนมิถุนายน 2564

เศรษฐกิจ: แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องด้วยมีการบริหารจัดการการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 ได้ดี อย่างเช่น จีน สหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐมีการกระจายวัคซีนให้กับพลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประชากรสหรัฐ 55% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ส่วน 47% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ทำให้กิจการต่างๆ ก็เริ่มกลับมาทำการกันเป็นปกติ อีกทั้งยังมีแผนกระตุ้น เมื่อสหรัฐฟื้นตัว โลกก็จะฟื้นตัว การฟื้นตัวของสหรัฐหมายความว่าการลงทุนของเอกชนในระดับโลกจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ จะทำให้ทั่วโลกได้รับอานิสงส์ส่งออกดีขึ้น ล่าสุดทางด้าน IMF มีการปรับคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของ GDP โลก ขึ้นเป็น +7% จากเดิมที่คาดไว้ +6%

เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดการณ์ว่ายังคงฟื้นตัวช้า เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รอบที่ 3 ที่มีการแพร่ระบาดในหลายกลุ่มคลัสเตอร์อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อออกไป อีกทั้ง ควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจและดูแลตลาดแรงงาน สำหรับมาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่วนนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง ควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกก็ตามเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 3.9 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอัตราเดิมที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนพฤษภาคม 2564 ปรับตัวลดลงจาก 84.3 เป็น 82.3 เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและยังมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้าและภาครัฐมีการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังชะลอตัวและอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤษภาคม 2564 ส่งออกมูลค่า 714,885.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ร้อยละ 36.22 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาร้อยละ 8.88 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 699,918.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ร้อยละ 57.50 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาร้อยละ 6.04 ดุลการค้าเดือนพฤษภาคม 2564 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 14,967.10 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2563 ร้อยละ 81.38 (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)

สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ IndexTM (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนมิถุนายน 2564 อยู่ในระดับเดียวกันกับเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ระดับ 62.1 และดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 47.8 ในเดือนพฤษภาคม 2564 มาอยู่ที่ 49.5 (+3.56%) ในเดือนมิถุนายน 2564 อุปสงค์และการผลิตปรับตัวลดลง ราคาวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มบริษัท-ผู้ประกอบการต่างยังมีความเชื่อมั่นในเชิงลบ เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมการซื้อและการจ้างงานลดลง จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นโดยรวมในภาคการผลิตของประเทศไทยยังคงลดลง แม้ความต้องการจากต่างประเทศสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ผู้ผลิตก็มีความระมัดระวังมากขึ้นในการเก็บสต็อกสินค้าหลังการผลิตของตน

พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. ปรับลดลง 7.6 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 459.1 ล้านบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้คนเริ่มกลับมาทำกิจกรรมการเดินทางและพักผ่อนอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเยอรมัน แต่ตลาดยังคงกังวลการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศได้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดของมาตรการล็อกดาวน์ออกไป อย่างไรดี ทางกลุ่มOPEC+คาดการณ์อุปสงค์มีการฟื้นตัว และมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิต ในการประชุมวันที่1 ก.ค. 64 สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส และเบรนท์เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 72.98 และ 74.76 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ยางพารา: ในเดือนมิถุนายน 2564 ปริมาณยางโดยภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตยาง แม้สภาพอากาศทางตอนใต้ของประเทศไทยยังคงมีฝนตกบ้าง ซึ่งไม่เอื้อต่อการกรีดยาง ราคายางภาพรวมปรับตัวลดลง ปัจจัยจากผู้ซื้อภายในประเทศชะลอการซื้อขายยาง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์ของโรงงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดสภาวะ Shock ภาคการผลิตและมีการเลื่อนส่งมอบ อีกทั้งมาเลเซียที่มีมาตรการล็อคดาวถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2564 และมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาต่อ หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูงกว่า 4,000 รายต่อวัน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกรีด ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในการผลิตชิป ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ ทั้งในประเทศและทั่วโลกหยุดการผลิตชั่วคราวเป็นระยะๆ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ราคาน้ำมันมีความผันผวนปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงค่าระวางเรือสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนตลาดล่วงหน้าต่างประเทศมีการปรับตัวลดลงเช่นกัน ในส่วนการยางแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการเพื่อจะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรและผู้ประกอบการผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพาราขยายระยะเวลาถึงสิ้นมีนาคม 2567 โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐขยายระยะเวลาถึงเดือนกันยายน 2565 โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการปี 2559 -2569 ขยายระยะเวลารับสมัครถึง 31 ธันวาคม 2564

ในเดือนพฤษภาคม 2564  ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 349,604.15 ตัน ลดลง 10.01 เปอร์เซ็นต์จากเดือนเมษายน 2564 เพิ่มขึ้น 4.51 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.86 หมื่นล้านบาท ลดลง 7.96 เปอร์เซ็นต์จากเดือนเมษายน2564 เพิ่มขึ้น 36.28 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนพฤษภาคม 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 11.98 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 63.11 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.49 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.57 เปอร์เซ็นต์ yoy

กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 140,168 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ 150.14% และเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2564 ร้อยละ 34.32% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 81,284 คัน (57.99% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนพฤษภาคม 2564 จำนวน 58,884 คัน เท่ากับร้อยละ 42.01 ของยอดการผลิตทั้งหมด ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 55,942 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.77 และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 710,356 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2563 ร้อยละ 32.92



หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

 
 
 
 
     
 
 
 

 

เลือกปี  
prev มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน | กรกฏาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม next

 
     
 

 

หน้าหลัก  |  รายชื่อสมาชิก  |  ข่าวสาร  |  กิจกรรม  |  ราคายาง  |  สถานการณ์ยางพารา  |  สถิติยางพารา  |  คุยกันเรื่องยาง  |  เชื่อมโยงเว็บไซต์  |  ติดต่อสอบถาม

สมาคมยางพาราไทย  45, 47 ถนนโชติวิทยะกุล 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
โทรศัพท์  074-429011-2 , 074-429311     โทรสาร  074-429312     E-mail:  tra@thairubber.org

 

©Copyright 2007. All Rights Reserved. Developed by ME-FI dot com