ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนเมษายน 2559 อยู่ที่กิโลกรัมละ 58.58 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 20.19 เปอร์เซ็นต์ โดยเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดอื่นๆ สาเหตุจากปัจจัยดังต่อไปนี้ ปริมาณวัตถุดิบในประเทศผู้ผลิตมีน้อยในช่วงฤดูยางผลัดใบ ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนินโญ่ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้สภาพอากาศแห้งแล้งและร้อนจัด การยางแห่งประเทศไทย เร่งซื้อยางเพื่อส่งมอบจีน ทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น บริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ กำหนดนโยบายลดการส่งออก 15 เปอร์เซ็นต์ จนถึงเดือนสิงหาคม 2559 ทำให้อุปทานในตลาดโลกลดลง ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและเริ่มมีเสถียรภาพ โดยขยับตัวมาอยู่ที่ 43.73 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในวันที่ 22 เมษายน 2559 เพิ่มขึ้น 9.93 เปอร์เซ็นต์จากวันที่ 18 เมษายน 2559 ข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาดีขึ้นในไตรมาสแรกปี 2559 ดังนี้ GDP ไตรมาสแรกขยายตัว 6.7 เปอร์เซ็นต์ yoy ยอดการส่งออกเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 11.5 เปอร์เซ็นต์ yoy ยอดการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาสแรกขยายตัว 5.8 เปอร์เซ็นต์ yoy การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4.5 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกปีนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนขานรับผลประกอบการที่สดใสของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในสหรัฐฯ
ในเดือนมีนาคม 2559 ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 357,840 ตัน เพิ่มขึ้น 5.43 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ และลดลง 7.08 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 13,853 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.26 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ และลดลง 21.95 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนมีนาคม ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 996,514 ตัน ลดลง 7.35 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 39,114 ล้านบาท ลดลง 19.62 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมีนาคม 2559 ไทยผลิตยางล้อรวมทั้งสิ้น 9.97 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น12.02 เปอร์เซ็นต์ yoy มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 10.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.44 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนมีนาคม ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 26.75 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 7.82เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 28.54 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.16 เปอร์เซ็นต์ yoy