รายงานสถานการณ์ยางธรรมชาติ ประจำเดือนธันวาคม 2564
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และปัญหา supply disruption ที่เริ่มคลี่คลายลง สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ในขณะเดียวกันความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและทำให้ ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เร่งการทำมาตรการลดทอนการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE tapering) ความเสี่ยงการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ ส่วนการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวมในระยะข้างหน้าอีกปัจจัยหนึ่ง จึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายนั้น มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาด ที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง อีกทั้ง มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทย (Thailand Industrial Sentiment Index: TISI) เดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 82.1 เป็น 85.4 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 เริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ผู้ได้รับวัคซีนมากขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น โดยมีกำหนดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ พังงา และภูเก็ต เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ในขณะเดียวกันราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้กระทบต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง จากปัจจัยดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จึงอยากให้ภาครัฐเร่งแก้ไข ออกมาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน สรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤศจิกายน 2564 ส่งออกมูลค่า 783,424.56 ล้านบาท (23,647.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2563 ร้อยละ 33.52 และเพิ่มขึ้นจากตุลาคมที่ผ่านมามาร้อยละ 4.45 ขณะที่นำเข้ามูลค่า 759,679.36 ล้านบาท (22,629.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2563 ร้อยละ 28.90 แต่ลดลงจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมาร้อยละ 1.66 ดุลการค้าเดือนพฤศจิกายน 2564 ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 23,745.20 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 1,018.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ *ข้อมูล ปี 2564 เป็นข้อมูลเบื้องต้น)
สำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (U.S. Manufacturing Purchasing Managers’ Index (PMI)) ภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57.7 (-1.02%) จากระดับ 58.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 การปรับตัวลดลงของดัชนีจากเดือนก่อน เนื่องจากภาคบริการของสหรัฐฯกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างรุนแรงและความล่าช้าในการส่งมอบสินค้า และการขาดแคลนแรงงานหลังตลาดแรงงานของสหรัฐฯมีแรงงานน้อยเกินไป ซึ่งกำลังสร้างปัญหาใหญ่ให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯอยู่ในเวลานี้ ส่วนดัชนี PMI สำหรับภาคการผลิตในประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวลดลงเป็น 49.5 (-2.17%) จากระดับ 50.6 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 สภาวะของภาคการผลิตในประเทศไทยมีการปรับตัวลงจากเดือนก่อน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการระบาดของ COVID-19 แต่ยังมีความกดดันด้านราคา เนื่องด้วยราคาวัตถุดิบและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาโดยรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งยังคงต้องจับตาดูในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป ว่าจะส่งสัญญาณในการเติบโตของการผลิตข้างหน้าต่อไปอย่างไร
พลังงาน (น้ำมัน) : สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 24 ธ.ค. 2564 ปรับตัวลดลง 3.6 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 420 ล้านบาร์เรล ภาพรวมราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ตลาดยังคงกังวลการแพร่ระบาดของ COVID-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ Omicron โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลังยอดติดเชื้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สรุปราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 76.56 และ 79.23 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ยางพารา: ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ราคายางภาพรวมและราคาตลาดล่วงหน้าต่างประเทศปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สภาพอากาศโดยส่วนใหญ่ยังคงมีฝนตกชุกภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) โดยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60–80 ของพื้นที่ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการระบาดของโรคใบร่วง ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้ายังคงปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วง Peak Season จนถึงสิ้นปี อีกทั้งปัญหาระวางเรือเต็ม ต้องวางแผนการจองล่วงหน้า ในขณะที่สายเรือแจ้งประกาศเรียกเก็บค่า Ports of Los Angeles & Long Beach Container Excess Dwell Fee หากอยู่ ภายในท่าเกินกว่า 8 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 และบางสายเรือให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ในส่วนการระบาดของโรคใบร่วงนั้น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เร่งดำเนินการเข้าตรวจสอบและควบคุมอย่างเร่งด่วน รวมถึงฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดและป้องกันการแพร่กระจายแล้ว พร้อมเดินหน้าโครงการชะลอยางฯ สามารถเก็บผลผลิตและขายในช่วงที่ราคาเหมาะสม เพิ่มสภาพคล่องให้ชาวสวนยาง ควบคู่ประกันรายได้เยียวยาในช่วงทีราคายางย่อตัว พร้อมชี้สถานการณ์ยางมีแนวโน้มในทิศทางดีขึ้น ความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มสูงตั้งแต่ต้นปี 65 โดยจะได้รับปัจจัยบวกที่สนับสนุนเนื่องจาก ประเทศเวียดนามและจีนเข้าสู่ช่วงปิดกรีดยางแล้ว และเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ได้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรแล้ว
ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ไทยมีปริมาณส่งออกยางธรรมชาติ 403,877.91 ตัน ลดลง -4.12 เปอร์เซ็นต์จากเดือนก่อน เพิ่มขึ้น 9.80 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 2.15 หมื่นล้านบาท ลดลง 3.64 เปอร์เซ็นต์จากเดือนก่อน 2564 เพิ่มขึ้น 26.08 เปอร์เซ็นต์ yoy สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 12.57 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 2.27 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.78 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.09 เปอร์เซ็นต์ yoy
กลุ่มยานยนต์: จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 165,353 สูงสุดในรอบ 12 เดือน ลดลงจากปีก่อน (เดือนพฤศจิกายน 2563) 4.12% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมปีนี้ร้อยละ 7.35 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 90,112 คัน (54.50% ของยอดผลิตทั้งหมด) ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนพฤศจิกายน 2564 จำนวน 75,241 คัน (45.50% ของยอดการผลิตทั้งหมด) ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของพฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 71,716 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 3.2 และจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,531,337 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2563 ร้อยละ 19.26
หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งได้นำมารวบรวมและวิเคราะห์ประมวลผล ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยสมาคมยางพาราไทย จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดใดที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
|