ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา เดือนเมษายน 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 73.31 บาท ลดลงจากเดือนมีนาคม 1.76 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง ดังนี้ เงินเยนผันผวนและแข็งค่า ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสัญญาเพื่อหวังกำไรจากส่วนต่างและป้องกันความเสี่ยง ผู้ผลิตยางล้อจีนชะลอซื้อ เนื่องจากสต็อกยางในประเทศมีจำนวนมาก โดยวันที่ 14 เมษายน มีจำนวน 377,888 ตัน เพิ่มขึ้น 227 ตันจากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ราคายางในตลาดจีนอ่อนตัวลง นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และภาคการผลิตที่ชะลอตัวในเดือนมีนาคม อีกทั้งยอดจำหน่ายรถยนต์ของสหรัฐฯ เดือนมีนาคม ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ราคายางได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งจากสถานการณ์ในซีเรียและเกาหลีเหนือ ส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงยางพารา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกช่วยพยุงราคายางไม่ให้ลดลงมาก ได้แก่ ภาวะฝนตกหนักทางภาคใต้และการปิดกรีดยางในช่วงฤดูยางผลัดใบ ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงอย่างชัดเจน ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ณ ตลาดนิวยอร์ก แตะที่ระดับ 50.24 – 52.24 ในช่วงต้นเดือนเมษายน ปรับตัวสูงขึ้น 3.97 เปอร์เซ็นต์ จากสัปดาห์ก่อนหน้า
ในเดือนมีนาคม ไทยส่งออกยางธรรมชาติ (รวมยางคอมปาวด์) 355,668 ตัน เพิ่มขึ้น 10.48 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 0.61 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 2.55 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.04 เปอร์เซ็นต์จากเดือนกุมภาพันธ์ และ 84.43 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้ว ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนมีนาคม ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 990,258 ตัน สร้างมูลค่ารวม 6.65 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.09 เปอร์เซ็นต์ yoy
สำหรับภาคยางล้อ ในเดือนมีนาคม ไทยผลิตยางล้อรวมทั้งสิ้น 10.99 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 10.16 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่าการส่งออก 1.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.30 เปอร์เซ็นต์ yoy โดยรวมแล้วตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนมีนาคม ไทยส่งออกยางล้อรวมทั้งสิ้น 29.86 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 11.62 เปอร์เซ็นต์ yoy สร้างมูลค่ารวม 3.54 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.16 เปอร์เซ็นต์ yoy