บทวิเคราะห์สถานการณ์ยางธรรมชาติประจำเดือนกรกฎาคม 2557
ตลาดยาง
ศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2557
ราคายาง ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยทั่วไป
ลดลงไปในทิศทางเดียวกัน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น Economist Intelligence
Unit คาดการณ์ว่าส่วนเกินยางธรรมชาติในปี 2557 จะอยู่ที่ 184,000 ตัน
มีรายงานว่า ชาวสวนยางในเวียดนามได้โค่นต้นยาง 3,300 เฮกตาร์
และปลูกพืชชนิดอื่นแทน ได้แก่ พริกไทยและกาแฟ เนื่องจากราคายางตกต่ำ
ศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2557
ราคายางและราคาน้ำมันลดลง นักลงทุนมีความกังวลเรื่องอุปทานยางส่วนเกิน
ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยทั่วไปซบเซา ดัชนี CRB (Commodity Research Bureau) ลดลง 9.7 จุด
ในส่วนของประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ใช้ยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุด
นอกจากราคาอสังหาริมทรัพย์จะลดลงแล้ว ยอดขายยานพาหนะในเดือนมิถุนายนลดลงจากเดือนพฤษภาคม
ซึ่งเติบโต 13.9 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ความต้องการยางล้อลดลง
ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2557
ราคายางปรับตัวสูงขึ้น
เนื่องจากมีการสั่งซื้อวัตถุดิบยางธรรมชาติจากผู้ผลิตยางล้อ
สต็อกยางชิงเต่าลดระดับลงเหลือ 300,000 ตัน โดยยางธรรมชาติลดลง 11,300 ตัน
สต็อกยางดิบท่าเรือญี่ปุ่นลดลงจาก 22,514 ตัน (ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2557) เป็น
19,599 ตัน (ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2557)
ศุกร์ที่ 25
กรกฎาคม 2557
ราคายางล่วงหน้าตลาดสิงคโปร์ปรับตัวลดลง
แต่เพิ่มขึ้นในตลาดโตเกียวและเซี่ยงไฮ้ ด้วยปัจจัยหลัก คือ ดัชนี PMI เดือนกรกฎาคมของจีนออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
และผู้ผลิตยางล้อยังคงซื้อวัตถุดิบตามปกติ
การผลิต การใช้ การนำเข้า และการส่งออก
Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่า การใช้ยางธรรมชาติของโลกจะขยายตัวโดยเฉลี่ย
3.9 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2557-2558 เนื่องจากความต้องการใช้ยางฟื้นตัวในประเทศผู้ใช้หลัก
ในส่วนของอุปทาน สภาวะอากาศแห้งแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กอปรกับราคายางตกต่ำ จะส่งผลให้อุปทานยางลดลงไม่มากก็น้อย ในส่วนของสต็อกยาง Economist
Intelligence Unit คาดว่าอุปทานส่วนเกินในปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.1
เปอร์เซ็นต์เท่านั้น กอปรกับความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นในอเมริกาเหนือและเอเชีย
จะส่งผลให้อุปทานส่วนเกินในปีนี้อยู่ที่ 184,000 ตัน เทียบกับ 640,000 ตันในปีก่อน
อุปทานส่วนเกินจะลดลงอีกครั้งในปี 2558
เนื่องจากปริมาณการใช้จะไล่ทันปริมาณการผลิต
ในเดือนมิถุนายน อินเดียผลิตยางธรรมชาติเพิ่มขึ้น 65.8
เปอรเซ็นต์ yoy เป็น 63,000 ตัน เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากมรสุมเหมือนในปีก่อน
ในทิศทางเดียวกัน การนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้น 42 เปอร์เซ็นต์ yoy เป็น 32,550
ตัน เนื่องจากราคายางในตลาดโลกตกต่ำ กอปรกับยอดขายรถยนต์เดือนมิถุนายนในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยรวมแล้ว ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน การนำเข้าเพิ่มขึ้น 65 เปอร์เซ็นต์เป็น
96,392 ตัน การผลิตไต่ระดับเพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ เป็น 251,000 ตัน
(ข้อมูลจากคณะกรรมการยางอินเดีย) คาดว่าในปีนี้ อินเดียจะใช้ยางเพิ่มขึ้น 4.1
เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.01 ล้านตัน
กระทรวงพาณิชย์
กัมพูชา รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 กัมพูชาส่งออกยางธรรมชาติ
(ไม่รวมน้ำยางข้น) ทั้งสิ้น 42,190 ตัน เพิ่มขึ้น 91 เปอร์เซ็นต์ yoy ก่อให้เกิดรายได้จากการส่งออก
75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ yoy เนื่องจากราคายางในตลาดโลกตกต่ำ
ยางล้อ
รัฐเซาท์ แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ได้กลายมาเป็นเมืองหลวงแห่งยางล้อของสหรัฐฯ
มีกำลังการผลิตยางล้อ 89,000 หน่วยต่อวันในไตรมาส 4/2556 ผู้ผลิตยางล้อ 5
บริษัทกำลังก่อสร้างโรงงานใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต
เนื่องจากความขาดแคลนยางล้อในอเมริกาเหนือ และตลาดรถยนต์กำลังเติบโต
·
เดือนมิถุนายน 2557 Giti Tire Group ผู้ผลิตยางล้อสัญชาติสิงคโปร์มีแผนลงทุน
560 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานยางล้อ OE ที่ Chester County
·
เดือนพฤษภาคม 2557 Trelleborg
Wheel Systems ประกาศแผนลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานยางล้อสำหรับการเกษตรที่ Spartanburg
County
·
เดือนมกราคม 2557 Continental Tire ลงทุน 500
ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานยางล้อ OE สำหรับรถยนต์นั่งที่ Sumter
·
เดือนธันวาคม 2556 มิเชอลินลงทุน 750 ล้านดอลลาร์
สร้างโรงงานยางล้อสำหรับรถตักดินที่ Anderson County
และบริจสโตนลงทุน 1.2 พันล้านดอลลาร์
ขยายโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์นั่งและรถสำหรับงานเหมืองแร่ที่ Aiken
ยานยนต์
สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ยุโรป รายงานว่า
ยอดขายรถยนต์เดือนมิถุนายนในสหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 4.3 เปอร์เซ็นต์ yoy เป็น 1.23
ล้านคัน จาก 1.8 ล้านคันในปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สิบ
ธนาคารกลางยุโรปเผยมาตรการต่างๆ ในการผลักดันการใช้จ่ายในกลุ่มยูโรโซน
หลังจากวิกฤติหนี้สาธารณะสิ้นสุดลงเป็นเวลา 1 ปี การว่างงานในกลุ่มยูโรโซนอยู่ที่
11.6 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤษภาคม เทียบกับ 12 เปอร์เซ็นต์ในปีก่อน
ยอดขายรถยนต์ในสเปน โปรตุเกส และกรีซ เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด 24 เปอร์เซ็นต์ 24
เปอร์เซ็นต์ และ 41 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
สมาคมผู้ผลิตยานยนต์อินเดีย รายงานว่า
ยอดขายรถยนต์เดือนมิถุนายนในอินเดีย เพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ เป็น 160,232 คัน โดยเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 เดือน
เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่ช่วยกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น กอปรกับนโยบายลดภาษีรถยนต์ยังมีต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม
ในขณะที่ยอดขายรถบรรทุกและรถบัสลดลง 9 เปอร์เซ็นต์ yoy เป็น 51,119
คัน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะในภาคการผลิต ความมั่นใจผู้บริโภคสูงขึ้น กอปรกับอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ทำให้ยอดขายยานพาหนะใหม่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.2 เปอร์เซ็นต์ yoy เป็น 1.4
ล้านคันในเดือนมิถุนายน คิดเป็นอัตราต่อปี (SAAR) ที่ 16.98
ล้านคัน นับเป็นตัวเลขยอดขายสูงสุด ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 โดยรวมแล้ว
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยอดขายยานยนต์ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.3
เปอร์เซ็นต์ yoy
สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน รายงานว่า
ยอดขายรถยนต์นั่งเดือนมิถุนายนในประเทศจีน เพิ่มขึ้น 11.5 เปอร์เซ็นต์ yoy เป็น 1.56
ล้านคัน โดยรวมแล้ว ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ยอดขายรถยนต์นั่งของจีนเพิ่มขึ้น
11.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 9.63 ล้านคัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า
ยอดขายในปีนี้จะขยายตัวประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายยานพาหนะทั้งหมดในเดือนมิถุนายน
(รวมถึงรถบัสและรถบรรทุก) เพิ่มขึ้น 5.2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.85 ล้านคัน ในส่วนนี้ ยอดขายรถยนต์ยี่ห้อท้องถิ่นมีส่วนแบ่งตลาดลดลงเป็น
37.7 เปอร์เซ็นต์
|